จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สายสอบสวน ตำรวจได้เฮ

Thairath
วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2554

ศาลปกครองพิพากษาเร่งพิจารณาตำแหน่ง
ตำรวจพนักงานสอบสวนเฮ หลังศาลปกครองพิพากษา ผบ.ตร.-ก.ตร.-สตช. ละเลยพนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ดองเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชานาน 7 ปี สั่งให้เร่งปฏิบัติภายใน 90 วัน

ที่ศาลปกครอง เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ก.ค. ศาลปกครองกลาง โดยนายศรศักดิ์ นิยมธรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะ ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.นางเลิ้ง ฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวน พร้อมพวกนายตำรวจที่เป็นพนักงานสอบสวนรวม 223 ราย ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) , พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร., คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ต่อศาลปกครองกลาง ในข้อหาร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ที่กำหนดให้ต้องออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน, ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาล่าช้า เกินสมควร ทำให้ผู้ฟ้องซึ่งคดีซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนขาดความเจริญก้าวหน้า ขาดขวัญกำลังใจ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ สตช., นายกรัฐมนตรี, ผบ.ตร., ก.ตร., ก.ต.ช. ให้ดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ โดยความเห็นชอบกระทรวงการคลัง ให้แก่พนักงานสอบสวน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณา เลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2547

ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชาตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เป็นการดำเนินหน้าที่ของ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร. ที่จะต้องเร่งรัดออกระเบียบดังกล่าวให้เสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนมีความเจริญก้าว หน้าในหน้าที่ราชการและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการให้พนักงานสอบสวนที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดและผ่านการ ประเมินแล้วได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น แต่ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร.มิได้เร่งรัดดำเนินการตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนล่วงเลยมาเป็นเวลา มากกว่า 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มีผลบังคับใช้ จึงเป็นการดำเนินการที่ล่าช้าเกินควร สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร. จึงต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด ไม่อาจยกปัญหาต่างๆมาอ้างเพื่อเลื่อนการดำเนินการออกไปโดยไม่กำหนดเวลาได้ อีกต่อไป

ศาลจึงพิพากษาให้ สตช.และ ผบ.ตร. เสนอระเบียบ ก.ตร.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินพิจารณาเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน และระเบียบการแต่งตั้งพนักงานสอบสวนและอำนาจหน้าที่ในการบังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ต่อ ก.ตร.ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และให้ ก.ตร.ดำเนินการออกระเบียบ ก.ตร.ดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องจาก สตช.และ ผบ.ตร. ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรีและ ก.ต.ช. ให้ยกฟ้อง เนื่องจากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองไม่ได้กระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนทั้ง 223 รายเดือดร้อนและให้ยกคำร้องที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ สตช., ผบ.ตร. และ ก.ตร. ออกระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน เนื่องจากเห็นว่า ก.ตร.ได้ระเบียบ ก.ตร.กำหนดเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษโดยความเห็นชอบกระทรวงการคลังให้แก่ พนักงานสอบสวน พ.ศ.2554 บังคับใช้แล้ว

ภายหลังคณะตุลาการศาลปกครอง อ่านคำพิพากษา พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.นางเลิ้ง ฐานะประธานชมรมพนักงานสอบสวนกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ศาลปกครองให้ความเป็นธรรม เพราะพนักงานงานสอบสวนต่อสู้เรื่องนี้มานาน เนื่องจากผู้บังคับบัญชาขณะนั้นไม่ยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จนเป็นเหตุให้ทุกวันนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายใด อยากมาปฏิบัติหน้าที่ในสายงานสอบสวน เนื่องจากเป็นงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขาดความเจริญก้าวหน้า ขวัญกำลังใจ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูว่า ทาง สตช.จะอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ เพราะมีเวลาในการยื่นอุทธรณ์อีก 30 วัน

ที่มา
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: