จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ทัพ บช.ก.อัพเกรดขุมกำลังก้าวสู่ความเป็น 'ตำรวจสากล' รับ 'ประชาคมอาเซียน'



วันเสาร์ ที่ 17 กันยายน 2554

ทัพ บช.ก.อัพเกรดขุมกำลังก้าวสู่ความเป็น 'ตำรวจสากล' รับ 'ประชาคมอาเซียน'



หลาย ท่านคงทราบแล้วว่า อีก 4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2558 ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่การเป็นสมาชิก “ประชาคมอาเซียน” ซึ่งจะส่งผลให้ 10 ประเทศสมาชิกเชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้พรมแดน ซึ่งหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา เป็นต้น ต่างเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ตำรวจไทย ซึ่งจะต้องเตรียมตัวรับมือและเท่าทันกับปัญหา “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” มากขึ้น เพราะโลกไร้พรมแดนในอนาคต หมายถึง ทุกคนสามารถเดินทางเข้า-ออกกันได้อย่างเสรี

จากการพูดคุยกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ได้กล่าวถึงการเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนว่า การรวมกลุ่มครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ หากจะมองในเชิงลบคงไม่ได้ ทางตำรวจเองก็ต้องจัดเตรียมคนให้พร้อม โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)ได้สั่งการลงมาให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไประดมความคิด ก่อนจะเอาความคิดทั้งหมดไปรวมกันเพื่อสร้างยุทธศาสตร์อีกครั้ง

จากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับตำรวจประเทศต่าง ๆ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกคือ ต้องศึกษาว่าแต่ละประเทศที่จะเข้าร่วมมีโครงสร้างและรูปแบบการทำงานกันอย่าง ไร ยกตัวอย่าง ช่วงก่อนที่กลุ่มยุโรปจะรวมตัวกันได้มีการให้ความสำคัญกับ “การเชื่อมต่อข้อมูล” ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ สามารถนำมาเป็นแม่แบบในการจัดการได้ อีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญคือ “ภาษาอังกฤษ” เพราะหลังร่วมกลุ่มกันจะเป็นภาษากลางในการสื่อสาร

“เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีตำรวจที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษากลาง และภาษาของแต่ละประเทศได้ ดังนั้นทางตร. เองก็มีความจำเป็นที่จะต้องรับบุคลากรที่สามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาท้อง ถิ่นของแต่ละประเทศ เข้ามาเป็นตำรวจ เหมือนสหรัฐอเมริกา หรือแคนาดา ที่รับคนเชื้อชาติไทยแต่สัญชาติอเมริกันเข้าไปเป็นตำรวจ และในส่วนของ บช.ก.เอง ก็นำร่องไปก่อนด้วยการรวบรวมบุคลากรที่รู้ภาษาท้องถิ่นของประเทศเข้ามา รวมทั้งสอนภาษาให้กับบุคลากรที่ต้องการจะรู้ภาษาท้องถิ่นของประเทศนั้น ๆ ด้วย

สำหรับปัญหาอาชญากรรมที่จะต้องเจอหลังรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ให้ความเห็นว่า คงมีทุกรูปแบบ แต่ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์มองว่าน่าจะลดลง เพราะความสมัครใจมีมากขึ้น แต่ปัญหาสำคัญที่จะต้องเจอแน่นอนก็คือ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะไม่มีพรมแดน เราต้องพัฒนาเรื่องข้อมูล เพราะไม่ว่าจะองค์กรหรือประเทศใดก็แล้วแต่ เรื่องข้อมูลนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าตำรวจไม่หาหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเอาไว้ก่อนก็จะทำงานลำบาก ยกตัวอย่าง “นาย ก” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่อาจจะเข้ามาก่ออาชญากรรมได้เดินทางเข้ามาในเมืองไทย ทางตำรวจไทยก็อาจจะไม่ได้มีระบบการตรวจสอบข้อมูลเก็บข้อมูลอะไรไว้ “นาย ก” ก็จะอยู่ในประเทศไทยได้อย่างสบาย

“เพราะฉะนั้น ระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตการณ์หรือติดตามคนร้ายนั้น จะต้องเป็นสากลมากขึ้น วิธีการที่ผิดกฎหมาย เช่นการอุ้มมาสอบนั้น จะทำไม่ได้โดยเด็ดขาด การแก้ปัญหาขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ก็คือ การสอบปากคำอย่างถูกต้องด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ไปซ้อม ไปบังคับเขา ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตำรวจไทยจะต้องเรียนกันอีก อีกเรื่องหนึ่งที่ห้ามเด็ดขาดเช่นกันก็คือ เวลาไปเจอศพผู้ที่มาลงทุนในไทยนั้น เราถนัดที่จะไปบอกว่าสาเหตุมาจากเรื่องผลประโยชน์ หรือชู้สาวไม่ได้ แต่ความจริงแล้ว เขาอาจจะถูกฆ่าโดยพวกฆาตกรต่อเนื่อง ฆาตกรอารมณ์วิปริต หรือพวกสติแตกก็ได้ จะไปพิพากษาเขาเลยก็อาจจะทำให้เสียหายได้”

นอกจากนี้ก็ยังต้องมาพิจารณาว่า มีความจำเป็นแค่ไหนในการจัดตั้งทีม “ตำรวจอาเซียน” มาเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เหมือนกับเป็นตำรวจสากลในนามของอาเซียน แต่ที่ต้องมีแน่นอนก็คือ ศูนย์ตำรวจสากลของอาเซียน เพื่อช่วยกันตรวจสอบคนที่เข้ามาในประเทศ เช่น ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต เพราะกลุ่มคนต่างชาตินั้นจะเข้ามาอยู่ในประเทศเรานาน อีกทั้งต้องตรวจสอบว่า ณ วันนี้ เรามีระบบลงบันทึกข้อมูลของกลุ่มคนที่เข้ามาในประเทศได้ดีหรือยัง

อีกสิ่งสำคัญที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นห่วงก็คือเรื่อง “ทัศนคติ” ตำรวจไทยจะต้องปรับทัศนคติให้เป็นตำรวจอาเซียน หรือมีความเป็นสากลมากขึ้น ตำรวจไทยเราคุ้นเคยกับการตั้งรับมากกว่า แต่หลังจากนี้ก็ต้องเปลี่ยนเป็นการรุกคืบเข้าไปแทน เพราะจะมีกลุ่มคนจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งแรงงานต่างด้าว หรือ นักลงทุน ขณะเดียวกัน คนไทยก็จะเดินทางเข้าไปทำงานหรือลงทุนในประเทศอื่นมากขึ้นเช่นกัน ทางตำรวจจะต้องเปลี่ยนมุมมองคือ จากลู่ทางเดิมที่ใครกระทำความผิดก็จับ เป็นมองหาลู่ทางว่า เราจะปกป้องคุ้มครองคนของเราที่เดินทางไปทำงานหรือลงทุนในประเทศต่าง ๆ อย่างไร

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีการเตรียมตัวโดย นำร่องจัดตั้ง “โรงเรียนตำรวจนอกเวลา” เอาความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นเข้าไปสอนให้ข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ก. มาแล้วระยะหนึ่ง

ซึ่งเรื่องแรกที่นำเข้าไปสอนก็คือ “ปรัชญาของตำรวจโลก” เพื่อให้เห็นภาพว่าตำรวจสากลนั้นเขาคิดกันอย่างไร โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์
ก็ได้นำเรื่องของ วิลเลี่ยม แบรตตัน อดีตผู้บัญชาการตำรวจมหานครนิวยอร์กและบอสตัน ซึ่งถือว่าเป็นตำรวจที่เก่งที่สุดในศตวรรษนี้ มาเป็นกรณีศึกษาให้ตำรวจไทยเราได้เรียนรู้

“วิลเลี่ยม แบรตตัน เก่งถึงขั้นที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ติดต่อให้มาช่วยแก้ปัญหาการจลาจลในอังกฤษที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วย ความจริงแล้วปรัชญาของตำรวจโลกนั้นก็เหมือนปรัชญาของตำรวจไทย แต่เราหลง เดินห่างจากความเป็นตำรวจมามาก เราไปมองว่าจะต้องจับคนให้เยอะ ผลของการปฏิบัติงานนั้นคือ “การจับกุม” เราไปมองว่า เรื่องไหนที่ไม่ใช่ของการบังคับใช้กฎหมายนั้น เราก็จะปฏิเสธ แต่ความจริงแล้วตำรวจนั้นไม่ได้ยืนอยู่ได้ด้วยกฎหมายเพียงอย่างเดียว จะต้องยืนอยู่บนฐานของความเป็นจริงด้วย ต้องใช้ทั้งกฎหมายและปรัชญาความเป็นจริงควบคู่กันไปด้วย

ทาง บช.ก. จึงนำเรื่องปรัชญาของตำรวจไทยเข้ามาทบทวนให้เหมือนกับปรัชญาของตำรวจสากล ก็คือ การทำงานในเชิงรุกด้วยการป้องกันและให้บริการประชาชน ซึ่งมุมนี้สำคัญเป็นอย่างมาก เราจะเห็นว่า ตำรวจไทยเราจับคนเข้าไปขังคุกเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แล้วเราก็ภูมิใจที่ไปทรมานเขา แทนที่เราจะป้องกันไม่ให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม หรือไปทำผิดกฎหมาย ซึ่งหากมีการรวมตัวของประชาคมอาเซียนขึ้นมาแล้วจะเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน เช่น คนหลงทาง หรือมีเรื่องเดือดร้อน น้ำท่วม งูเข้าบ้าน ฯลฯ จะไปบอกให้เขารอก่อน เพราะจะไปจับคนร้าย แล้วไม่สนใจให้เขานั่งรอไป สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อีกแล้วในเมืองไทย” ผบช.ก.กล่าว

แม้ว่าขณะนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้กำหนดและรวบรวมแนวคิดมาสรุป เป็นแผนแม่บทที่ชัดเจน แต่เราก็คงจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า ภาพลักษณ์ของตำรวจไทยจะสามารถก้าวเข้าสู่ความเป็น “ตำรวจสากล” ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะอย่างน้อยทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก็ได้มีแนวทางที่ชัดเจนและนำร่องเสริมศักยภาพให้ข้าราชการตำรวจในสังกัดไป ก่อนแล้ว เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต.

วรทัศน์ ทองทรัพย์โต รายงาน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=584&contentID=163785

ไม่มีความคิดเห็น: