จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ครูรถเข็น

สัมผัสชีวิต ครูรถเข็น กองปราบปราม



ภาพ พ.ต.อ.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์รักษาราชการแทนผบก.ป.กับด.ต.อานนท์ฯขณะกำลังสอนเด็กๆที่โรงเรียนวัดแจ้งศิริสัมพันธ์ อ.เมืองนนทบุรี

"ถ้าพึ่งใครไม่ได้ก็มานี่ เราพร้อมที่จะรับใช้ไม่หนีหน้า จะยากเย็นเข็ญใจไม่นำพา แม้ไกลสุดขอบฟ้าจะฝ่าฟัน ด้วยรอยยิ้มเต็มหน้าวาจาเพราะ ไม่ฉอเลาะเฉพาะเสี่ยเรียกเฮียท่าน จะเป็นใครที่ไหนก็สำคัญ ชนทุกชั้นน้อมคำนับขอรับใช้ ถ้าพึ่งใครไม่ได้ก็มานี่ ป.ขอพลีทั้งชีวิตอุทิศให้ เพื่อประเทศ หน้าที่ พี่น้องไทย เพื่อความเป็นธรรมในแผ่นดิน" บทกวีของพล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ ที่กลายเป็นสโลแกนกองปราบปราม หน่วยงานที่ถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายในวงการตำรวจ ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนผดุงความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งกองปราบปราม ในยุคที่พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ทำหน้าที่รักษาการผู้บังคับการ เรียกได้ว่าเป็นยุคที่มีทั้งมือปราบและนักวิชาการทำงานร่วมกัน ดังนั้น กอง ปราบฯ ยุคนี้นอกจากต้องมีผลงานทางด้านปราบปรามแล้ว ตำรวจทุกนายจะต้องเสนอผลงานในแนวของนักวิชาการออกมาในรูปแบบของโครงการต่างๆ ที่สร้างสรรค์สังคมด้วย อย่างเช่นโครงการ "ครูรถเข็น" ซึ่งเป็นไอเดียของพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ที่นำเอากำลังพลที่ประสบเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่จนพิการให้กลับมาทำงานภาคสนาม โดยใช้ประโยชน์จากความถนัดเฉพาะด้านซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งสภาพร่างกายเป็นครูรถเข็นก็สอนเด็กๆ ได้!!

โครงการครูรถเข็นประเดิมที่ด.ต.อานนท์ สุขสาม อายุ ๔๓ ปี ตำแหน่ง ผบ.หมู่กก.ปพ.บก.ป. เป็นครูคนแรก ดาบอานนท์ประสบอุบัติเหตุรถตู้ที่นั่งมาหลังจากกลับจากปฏิบัติหน้าที่พลิกคว่ำ ซึ่งอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังไปทับเส้นประสาท ทำให้ร่างกายพิการตั้งแต่ช่วงล่างลงไป ขาทั้งสองข้างไม่สามารถใช้งานได้ ต้องนั่งอยู่บนรถเข็นตลอดชีวิต เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๑ ที่ผ่านมา เมื่อมาถึงยุคของพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอโครงการด้านวิชาการ ด.ต.อานนท์จึงเสนอตัวทำหน้าที่ "ครูรถเข็น" อาสาออกไปทำหน้าที่สอนวิชาตำรวจให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากภัยสังคมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ที่เห็นชอบในหลักการและให้ความอนุเคราะห์เรื่อยมา นายดาบอานนท์ภูมิใจกับงานใหม่เป็นที่สุด

เมื่อวันที่ ๑๔ ส.ค.ที่ผ่านมา ด.ต.อานนท์ รับบทบาทเป็นครูรถเข็นครั้งแรก ที่โรงเรียนวัดแจ้งศิริสัมพันธ์ อ.เมืองนนทบุรี โดยมีพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ตามไปเป็นพี่เลี้ยง ท่ามกลางความสนใจของนักเรียนจำนวนมาก โดยดาบอานนท์ได้นำประสบการณ์การเป็นตำรวจอาชีพมาสอนเด็กให้รู้ถึงหลักในการปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และที่สำคัญ ต้องทำหน้าที่ของลูกที่ดีของพ่อแม่ ไม่เกเร นอกลู่นอกทาง เพราะหากพลาดพลั้งไปกฎหมายจะไม่ให้อภัยใครทั้งนั้น นอกจากการสอนตามหลักวิชาการแล้วยังมีการแสดงดนตรีขับกล่อมหนูๆ เพื่อให้ผ่อนคลายอิริยาบถอีกด้วย บรรยากาศการเรียนการสอนวันนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และความสนุกสนาน หลังเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวแล้ว ด.ต.อานนท์ย้อนอดีตของตนเองให้ฟัง ว่า ตอนนั้นประจำแผนก ๕ กก.๒ ป. หรือ "หน่วยคอมมานโด" ซึ่งจะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญ เดินทางไปทั่วประเทศ วันเกิดเหตุจำได้ว่าหลังจากเข้าจับกุมกลุ่มนักพนัน ภายในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ตนและเพื่อนประมาณสิบนายเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยรถตู้ เมื่อมาถึงเขตอำเภอบางปลาม้า พขร.เกิดหลับในเพราะทำงานไม่ได้พักผ่อน ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำลงข้างทาง มีเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต ๑ นาย ส่วนตนได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นพิการต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต นายดาบอานนท์ เล่าต่อว่า เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วได้ออกมาทำงานตามปกติ แต่เมื่อร่างกายไม่เหมือนเดิมหน้าที่จึงเปลี่ยนไป ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานทางด้านเอกสารไปจนถึงการเบิกจ่ายอุปกรณ์การปราบจลาจลที่ยังพอทำได้ เป็นงานที่สบายๆ เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเรา แต่เมื่อทำไปนานๆ โดยไม่ได้ออกไปสัมผัสหรือไปสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม เลยทำให้ชีวิตหดหู่ ถึงแม้ทุกๆ วันจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมงานที่เขาออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ มาก็ตาม ยังอยากจะทำงานอย่างอื่นมากกว่างานเอกสาร เมื่อทราบว่าผู้บังคับบัญชามีนโยบายดังกล่าวจึงเขียนโครงการเสนอไป "ผมคิดว่าความรู้ทางด้านตำรวจจากประสบการณ์ต่างๆ ทั้งที่ประสบกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน จะสามารถช่วยสร้างเกราะป้องกันให้กับเยาวชนของชาติได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้ผมเกิดความภาคภูมิใจ ที่ยังสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ในฐานะของตำรวจ มากกว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง" ด.ต.อานนท์ กล่าว ด้านพ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เปิดเผยว่า หลักการของโครงการนี้คือตำรวจที่ดีนอกจากจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่รับผิดชอบแล้ว การทำงานก็จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้วย โดยความคิดสร้างสรรค์นั้นจะต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับส่วนรวม ซึ่งตามปกติแล้วงานตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องมีความสร้างสรรค์มากกว่าปกติ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่คอยจับโจรผู้ร้ายอย่างเดียว อีกด้านต้องหางานที่สร้างสรรค์ออกมาสู่สังคมด้วย ส่วนตัวแล้วมีความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้ตำรวจทุกนายของกองปราบปรามได้มีความรู้สึก และจิตสำนึกที่จะมาร่วมกันสร้างผลงานที่ดี เพื่อสร้างสรรค์สังคม "กลุ่มเป้าหมายของเรา เลือกไปที่โรงเรียนตามวัดวาอารามต่างๆ ส่วนจุดมุ่งหวังของโครงการก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรไว้สวยหรู เพียงแต่อยากส่งเสริมเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบางนายที่หมดหวังต่อความก้าวหน้าของอาชีพ ให้กลับมาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือประโยชน์และความรู้ที่เด็กๆ จะได้รับ อันจะเป็นคุณูปการสืบต่อไป" พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ กล่าว

ขอขอบคุณที่มา

http://www.csd.go.th/scoop/pushcart/

ไม่มีความคิดเห็น: