จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

 
 27 มกรคา 2554
 

'ผู้รับใช้ชุมชน'ปรับวงจรชีวิตตร.

'ผู้รับใช้ชุมชน' ปรับวงจรชีวิต..ตำรวจ : ตะลุยข่าว โดยโต๊ะรายงานพิเศษ

               "...ยังจำได้ไหมว่า เคยเป็นคนเก่ง เคยมีอุดมการณ์ แต่เมื่อมาปฏิบัติหน้าที่แล้ว อุดมการณ์ก็ยิ่งลดน้อยลง คนดีคนเก่ง ที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ต้นทุนทางสังคมต่ำทันทีเมื่อสวมเครื่องแบบ..." หนึ่งในประโยคเด็ดจากพรีเซนเทชั่น เรื่อง "วงจรชีวิตตำรวจ" ซึ่งสะท้อนภาพวงจรชีวิตตำรวจที่แรกๆ ก็ยังมีอุดมการณ์ยังแรงกล้า พออยู่นานไป อุดมการณ์กลับหดหาย ขณะเดียวก็สะท้อนภาพอีกแง่มุมของตำรวจที่ดีรับใช้ชุมชน...ปรากฏอยู่ภายใน ห้องประชุมกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 

               ต่อสายตาของ ดร.อิสระพัฒน์ ธีรพัฒน์สิริ และ ดร.สิรภพ รักษ์ธนธัช ผู้เชี่ยวชาญสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมาร่วมรับฟังและเสนอแนะแนวคิด "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ให้แพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาค ก่อนจะนำแนวคิดดังกล่าวไปหาข้อสรุปร่วมกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ถึงการให้ตำรวจทั่วประเทศนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ

               ทั้งนี้  "ตำรวจรับใช้ชุมชน" เกิดจากแนวคิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เป็นผู้ผลักดันให้ตำรวจไทยรู้จักและใช้วิธีการทำงานตำรวจสมัยใหม่ เน้นการบริการ ป้องกัน ปราบปราม มุ่งลดความหวาดระแวง ตำรวจและประชาชนเป็นหุ้นส่วนต่อกัน และแนวความคิดนี้ได้มีการนำไปใช้ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเรื่องการลดอาชญากรรม จึงมีการศึกษาและนำมาทดลองในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ยังเป็นหัวหน้า สน.บางขุนนนท์ เมื่อปี พ.ศ.2535 จนกระทั่งมาเป็น ผบช.ก.จึงมีการผลักดันอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่การจัดนิทรรศการตำรวจยุคใหม่ไม่ทำผิด, เปิดโรงเรียนตำรวจนอกเวลา และในที่สุดกลายเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2555-2564

               ระหว่างการประชุม ร.ต.อ.ศ.ดร.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านตำรวจผู้รับใช้ชุมชน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สไกป์ข้ามประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยความคิดเห็น พร้อมยกตัวอย่าง ในอเมริกามีการนำแนวคิด "ตำรวจรับใช้ชุมชน" มาใช้ สามารถช่วยลดอาชญากรรมได้อย่างดี เพราะความช่วยเหลือจากเครือข่ายภาคประชาชน
 
               ดร.อิสระพัฒน์ ยอมรับว่า เป็นแนวคิดที่ดี ต้องมีการสนับสนุนให้ตำรวจไม่ใช่ต้นทางของปัญหาเสียเอง จึงต้องทำให้ตำรวจนั้นเป็นสีขาวเสียก่อน และจากระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่รองรับและสนับสนุนการทำงานในแนว คิดตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ด้วยการส่งตำรวจลงไปฝังตัวในแต่ละชุมชนนั้น อยากเสนอแนะว่า ควรให้ตำรวจที่จะลงไปรับใช้ชุมชนนั้นเป็นตำรวจที่มีภูมิลำเนาอยู่ในชุมชน นั้นๆ จริงๆ จะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดี และช่วยให้แนวคิดตำรวจรับใช้ชุมชนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

               ด้าน  พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. กล่าวว่า ขณะนี้ชุมชนทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 8 หมื่นแห่ง มีสถานีตำรวจ 1,460 สถานี การส่งตำรวจลงไปเหมือนเป็นการฉีดยาลงไปในเซลล์แตกตัวลงไปในชุมชนเพื่อลดความ รุนแรงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้น จึงต้องสร้างตำรวจที่เป็นผู้รับใช้ชุมชนก่อน เพื่อเรียนรู้กับชุมชน ซึ่งจะต่างจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ที่จะเข้าไปในชุมชน แต่ไม่ได้เข้าไปฝังตัวกับชาวบ้าน

               พ.ต.ท.วรวุฒิ คุณะเกษม รอง ผกก.5 บก.ป. เสริมว่า ตอนนี้ก็ได้มีการนำแนวคิดตำรวจผู้รับใช้ชุมชนลงไปใช้ในชุมชนเซิงหวายแถว ดอนเมือง โดยการคัดเลือกตำรวจ 2 นาย จาก บก.ปอศ. ที่มีจิตอาสาเข้าไปใช้ชีวิต ฝังตัว กินนอนอยู่ในชุมชนนี้ ไปอยู่เหมือนเป็นเพื่อนบ้าน ที่เข้าไปดูปัญหาของชุมชน มีปัญหาอะไรก็ช่วยแก้ไข ตั้งแต่ประมาณปีที่แล้ว ซึ่งผลตอบรับที่ได้ก็ถือว่าดี และชาวบ้านก็พอใจมาก !!

............

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก คม ชัด ลึก

ไม่มีความคิดเห็น: