จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาพคู่ผู้กองเต็มใจ มิตรภาพที่ยังเหลือใย ดับไฟใต้ที่ยังมีหวัง



ตั้งใจว่าจะเขียน งานลงบล็อกในวันส่งท้ายปี 2554 กับเขาด้วยเหมือนกันแต่ยังคิดไม่ตกว่าจริงๆแล้วอยากจะนำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง อะไร หลายวันที่ผ่านมาจึงเป็นโอกาสดีที่ได้ทบทวนเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น ตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่อง "ข่าว" ที่ส่วนตัวมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่พอสมควรในฐานะผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง

ปี 2554 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้นมีอยู่สถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมายาว นานถึง 7 ปี และกำลังจะย่างเข้าสู่ปีที่ 8 ในเดือนมกราคม ปี 2555 นี้ เป็นเหตุร้าย เป็นไฟใต้ที่ปลายด้ามขวานไทยที่สร้างความเสียหายมาต่อเนื่องยาวนาน เจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ประชาชนครู พระ ธุรกิจ ร้านค้า สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งคนร้าย บาดเจ็บล้มตาย เสียหายอย่างไม่อาจประมาณค่าได้ทั้งทางวัตถุและจิตใจ

ส่วน ตัวก็ได้แต่แสดงความเห็นความรู้สึกอยู่รอบนอก แต่ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ให้ถึงแก่นได้เพราะไม่เคยสัมผัสสถานการณ์หรือ พื้นที่จริงมาก่อน คงได้รับทราบเพียงข้อมูลข่าวสาร และมีโอกาสได้ทำข่าวที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น การจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาวางตะปู เรือใบ ตัดต้นไม้ เผายาง ในวันที่มีการปล้นปืน กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดไฟใต้ คดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกอุ้มหายโดยมีตำรวจกลุ่มหนึ่งตกเป็นผู้ต้องหา เป็นต้น

จาก ครั้งนั้นจนถึงวันนี้ความรุนแรงยังดำรงอยู่ โดยเฉพาะเหตุระเบิด เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมาย มีการระดมกำลัง สนับสนุนงบประมาณลงไปในพื้นที่ มีการแก้ไขปัญหาโดยใช้ไม้แข็ง ไม้นวม ปราบปราม ป้องกัน งานมวลชน วิชาการ ศาสนา การศึกษา เรียกได้ว่าระดมสมองทุกภาคส่วน ใช้ยาทุกขนานแล้วแต่ก็ไร้ผล

หลายคน "ชินชา" หลายคน "สิ้นหวัง" กับสถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งไม่ต่างจากการถลำลึกเข้าไปในอุโมงค์ที่มืดมิด ไร้ จุดแห่งแสงสว่างใดๆ แต่ระงมไปด้วยเสียงร่ำร้องของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องทนทุกข์ หวาดกลัว หวาดระแวงที่พร้อมจะสำแดงอาการออกมาได้ทุกครั้งที่ย่ำเท้าเดินตาม "ผู้(ชี้)นำ" ไปอย่างไร้จุดหมายและห่างไกลจาก "สันติสุข" มากขึ้นทุกที

อยากจะกล่าวย้ำอีกครั้งว่า "อย่าหมดหวัง" แต่ก็ไม่กล้าออกเสียงเต็มปากเต็มคำด้วยความมั่นใจเพราะเป็นเพียง "ความเชื่อ" ที่สวนทางกับ "ความเป็นจริง" โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั่นคือความ สัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน จากที่เคย "หวาดระแวง" สร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงและร้าวลึกนั้น จนถึงทุกวันนี้สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเป็นอย่างไรบ้าง

แต่เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม (ผกก.5 บก.ป.) และได้เห็นภาพถ่ายหลายภาพที่แม้จะไม่ใช่ภาพที่สื่อถึงสถานการณ์ในพื้นที่โดยตรง แต่ก็พอช่วยหล่อเลี้ยง "ความเชื่อ" (ส่วนตัว) เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มีอยู่ต่อไปได้

ภาพทั้งหมดเกิดขึ้นในบริเวณงานพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ ซึ่งรวมถึงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม 2554 ในงานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามจึงถือโอกาสนำแผ่นภาพและข้อความที่เกี่ยวกับแนวคิด "ตำรวจยุคใหม่" ไปนำเสนอให้แก่ประชาชนและบัณฑิตที่มาร่วมงาน โดยมี “ผู้กองเต็มใจ ให้บริการ” มาสคอตตำรวจ เป็นจุดดึงดูดความสนใจซึ่งก็ทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี







































การถ่ายภาพคู่กับผู้กองเต็มใจในงานนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า "ช่องว่าง" ระหว่าง "เจ้าหน้าที่" กับ "ประชาชน" ลดลงได้...เพียงเท่านี้ก็เป็นการช่วยจุดไฟแห่ง "ความหวัง" ให้แก่สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ที่ไม่ต่างจากการเดินอยู่อุโมงค์อันมืดมิด แม้ยังไม่รู้จุดหมาย แต่ถ้ามองเห็นทางก็ย่อมดีกว่าเดินคลำความมืดไม่ใช่หรือ

งานเขียนบล็อกในวันสุดท้ายของปี 2554 ก็เป็นไปตามบรรทัดข้างต้น พบกันใหม่ปีหน้า 2555 สวัสดีปีใหม่ครับ

..........ll.........
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก Blog OK Nation ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: