จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์... ตำรวจต้อง "กลับหลังหัน"

http://thumbsup.in.th/wp-content/uploads/2011/07/NewsIm_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88.jpg 











วัน พุธ ที่ 20 มิถุนายน 2555
จาก จุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 
โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร และวิศิษฎ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์

          การจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ที่กลายเป็น "ข่าวรายวัน" แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็มีคำถามตามมาไม่น้อยเหมือนกันว่าเหตุใดยาเสพติดที่ถูกยึดได้จึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกทีๆ วิธีการ "ล่อซื้อ" ที่ตำรวจไทยนิยมทำ เป็นแนวทางที่ถูกต้องหรือไม่?
          การยักยอกยาเสพติดของกลางของตำรวจกลุ่มหนึ่งที่กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวเมื่อ ไม่นานมานี้ คือใบเสร็จที่บ่งชี้ว่าวิธีการที่ทำอยู่มีช่องว่างช่องโหว่สำหรับ "มิจฉาชีพ" ในคราบเจ้าหน้าที่ด้วยหรือเปล่า?


          พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ในฐานะปรมาจารย์วิชาตำรวจสมัยใหม่ มีคำตอบที่สามารถไขข้อข้องใจในประเด็นต่างๆ ที่ว่านี้
          โดยเฉพาะหากใครได้ชมคลิปวิดีโอที่ใช้เทคนิคการสืบสวนสะกดรอยฝีมือของเขา ซึ่งแอบถ่ายพฤติกรรมของตำรวจกลุ่มหนึ่งที่ทำแต่เรื่องแย่ๆ ใน 1 วัน ตั้งแต่นอนตื่นสายจนไปเข้าแถวไม่ทัน จากนั้นก็ออกไปโบกรถสิบล้อรีดไถเงินโดยไม่สนใจการจราจรที่ติดขัดเป็นแถวยาว ตามด้วยการปฏิบัติหน้าที่สายตรวจด้วยการออกไปเซ็นตู้แดงและรับส่วยจากบรรดา สถานบริการ ปิดท้ายด้วยการนั่งล้อมวงดื่มสุรา แล้วก็วิทยุสื่อสารกันไปมาเหมือนกำลังทำงานอยู่ต่างสถานที่กัน

          ไม่มีใครทำงานกับชาวบ้าน ไม่มีใครเดินเข้าหาชุมชน...

           พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ บอกว่านี่คือที่มาของสภาพการณ์โจรผู้ร้ายเต็มบ้าน ยาเสพติดเกลื่อนเมือง!

          O มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการล่อซื้อเพื่อจับยาเสพติดของตำรวจ ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา?

          
ยา เสพติดมีเครือข่ายทั้งระดับโลกและระดับเอเชีย ฉะนั้นถ้าไม่ใช้การสืบสวนสมัยใหม่วิเคราะห์และเก็บข้อมูล ลำพังการล่อซื้อหรือใช้การสืบสวนสมัยเก่าก็จะได้เพียงกลไกฟันเฟืองในขบวนการ แต่ไม่ได้ตัวการใหญ่และไม่สามารถทำลายเครือข่ายได้

          ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติคนใน กทม.ติดยา 1 พันคน ก็ต้องสั่งยา 1 พันเม็ดมาจากต่างจังหวัด เมื่อยามาถึงรังสิตแล้วถูกจับ ยา 1 พันเม็ดใหม่ก็จะถูกขนเข้ามาแทน แล้วถ้าคนติดยา 1 ล้านคนล่ะ ก็ต้องการยา 1 ล้านเม็ด หากใช้วิธีการล่อซื้อ ขบวนการค้ายาเสพติดก็จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากการจับยาพันเม็ด กลายเป็นล้านเม็ด

          จริงๆ แล้วการจับยาเสพติดไม่ควรพูดถึงมูลค่าของกลางหรือค่าจ้างในการขนว่ามันมาก มายมหาศาลขนาดไหน เพราะจะทำให้คนเข้าสู่ขบวนการมากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผมเคยทำมาพบว่าคนที่รับจ้างขนล้วนเป็นคนจนตรอก มีหนี้สินรุงรัง ก็คิดว่าขอสักรอบเถอะ แล้วคนประเภทนี้เองที่โดนจับ แต่ถ้าคนในเครือข่ายจะไม่โดน

           ผมคิดว่าทุกวันนี้คนไทยถูกจับมากเกินไปแล้ว คุกเต็มทุกแห่ง ฉะนั้นต้องช่วยให้คนออกจากวงจรอาชญากรรม ตอนผมยังเป็นตำรวจเด็กๆ เคยจับคนแก่หิ้วยาเสพติดแถวหน้ารามฯ (ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง) จับแล้วก็สะท้อนใจ คนแก่ต้องถูกจับทั้งๆ ที่รู้ว่าถูกหลอกมา แต่เมื่อเราเจอก็ต้องจับ ถ้าเรารู้ข้อมูลของขบวนการ คนแก่คนนี้ก็จะกลายเป็นพยานแทน แต่ถ้าไม่รู้เขาก็จะกลายเป็นผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าว

           ที่ผ่านมามีกรณีคนขับรถขนยาเสพติด บางคนไม่รู้จริงๆ เพราะขับรถส่งผักที่ตลาดไทอยู่บ่อยๆ วันหนึ่งรถเสีย เอารถไปซ่อม หรือเจ้านายให้เปลี่ยนรถคันใหม่ ปรากฏว่าในรถมียาเสพติดซุกอยู่ เขาก็ไม่รู้ แต่ถูกจับ ตำรวจต้องอุดช่องโหว่เหล่านี้ ไม่ใช่จับคนเหล่านี้มาเข้าคุก

          O มีคนเสนอให้เร่งรัดลงโทษผู้ค้ายาเสพติด โดยให้ประหารชีวิตภายใน 15 วันหลังศาลมีคำพิพากษา?

           คนที่เข้าสู่ขบวนการ โดยเฉพาะคนขนยา เขาคิดว่าเขารอดเขาจึงทำ ฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวกับอัตราโทษ จะเป็นโทษประหาร 7 ชั่วโคตร แต่ถ้าเขาคิดว่าเขารอดเขาก็ทำ ถ้าคิดว่าไม่รอด แม้แค่ครั้งเดียวเขาก็ไม่ทำ ฉะนั้นการเพิ่มโทษประหารให้กับผู้ค้าหรือคนในขบวนการค้ายาเสพติดจึงไม่ใช่ วิธีการแก้ไขปัญหา

           ประเทศไทยต้องการยาเสพติดจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเยอะมาก เครือข่ายค้ายาจึงเต็มไปหมด ฉะนั้นยิ่งล่อซื้อ เครือข่ายก็ยิ่งเพิ่ม จึงต้องปรับแนวทางการสืบสวนจับกุมเป็นการทำงานเชิงคุณภาพ ซึ่งผมได้เสนอยุทธศาสตร์ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และท่าน ผบ.ตร. (พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ก็ได้สั่งให้บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ใหม่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว

           เราต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ใหม่ ตำรวจต้องตั้งใจทำงาน ต้องเดินเข้าหาชุมชน ยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า Community policing หรือตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ลักษณะการทำงานจะกลับทิศกับปัจจุบัน คือตำรวจต้องมองเข้าไปในชุมชนว่าประชาชนมีปัญหาอะไร แล้วเข้าไปแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่ใช่นั่งรอรับแจ้งความอยู่ที่โรงพัก และไม่ใช่ตำรวจมองปัญหาเอาเอง แต่ต้องเข้าไปหาประชาชน เพื่อให้ประชาชนช่วยกันมอง

           คำว่า Community policing ผมให้นิยามว่า "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" จึงต้องเข้าไปรับใช้ให้บริการประชาชน อยู่กับประชาชน แล้วประชาชนก็จะไว้วางใจ คุยกับตำรวจว่ามีปัญหาอะไรที่เขากำลังเผชิญอยู่ จากนั้นก็ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข เป้าหมายของตำรวจผู้รับใช้ชุมชนคือสร้างความมั่นใจ เปลี่ยนทัศนคติของประชาชนที่มองตำรวจอย่างเกลียดชัง มาเป็นความรู้สึกดีๆ ลดความหวาดระแวง และมีความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย เพราะตำรวจอยู่ในชุมชนเอง

           ผลที่ได้จะมี 2 ทาง คือ สถิติอาชญากรรมจะลดลงทันที สภาพสังคมโดยรวมจะดีขึ้น และผลอีกทางหนึ่งก็คือลดความรู้สึกเกลียดชังตำรวจ ความมั่นใจของประชาชนทำให้อาชญากรรมลดโดยธรรมชาติ ต้องยอมรับว่าตำรวจนั้นต้นทุนต่ำอยู่แล้ว แต่ Community policing จะช่วยเพิ่มต้นทุนให้ตำรวจ ทำให้ประชาชนมั่นใจตำรวจ เมื่อนั้นอาชญากรรมก็จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ

           หากตำรวจเดินเข้าหาชุมชนจะมีข้อมูลมหาศาล รู้ว่าใครทำอะไร มีคนแปลกหน้าเข้าไปในชุมชนหรือไม่ มีการลักลอบเล่นการพนันหรือเปล่า มีใครอยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติดบ้าง

           O แล้วจะมีระบบการจัดการข้อมูลอย่างไร เพราะตำรวจคนเดียวคงทำไม่ได้?

           
หัวใจ สำคัญของทฤษฎี Community policing ก็คือการส่งผ่านข้อมูลเข้าไปยังศูนย์กลาง ตั้งแต่ระดับโรงพัก แล้วก็ส่งต่อให้กองกำกับการ ขึ้นไปถึงกองบังคับการ กองบัญชาการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามลำดับ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็ต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อข้อมูลไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตำรวจก็จะเห็นภาพว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องในวงจรอาชญากรรม หรืออาจจะเรียกว่า "ต้นไม้อาชญากรรม" ซึ่งแผ่กิ่งก้านสาขาเต็มไปหมด และมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน

            ที่ผ่านมาตำรวจไทยมีปัญหา ทำงานตามที่ชาวบ้านแจ้งความ พอแจ้งแล้วก็ไปจับมา ตำรวจวิ่งไปวิ่งมา ออกตรวจบ้างเหมือนกันโดยใช้ระบบสายตรวจและสายสืบ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นช่องทางของการทุจริตเรียกรับ แต่ถ้าตำรวจอยู่ในชุมชน คนในชุมชนนั่นแหละจะคุมตำรวจ

            ทฤษฎีนี้ต้องใช้ควบคู่กับอีก 5 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ทฤษฎีป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม ทฤษฎีหน้าต่างแตก และทฤษฎีหลักการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน

            ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในโลก 96% ใช้ Community policing กันหมดแล้ว เฉพาะในภูมิภาคอาเซียนก็มีใช้กันหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ แม้แต่ลาว และบรูไน ขณะที่ไทยยังไม่ได้ใช้ ทำให้สถิติอาชญากรรมของไทยสูงเป็นลำดับต้นๆ ของอาเซียน

            ผมบอกได้เลยว่า Community policing คือยุทธวิธีในการสร้างพลังแผ่นดินอย่างแท้จริง และเมื่อเร็วๆ นี้ท่าน ผบ.ตร.ก็ได้บรรจุยุทธศาสตร์ตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเป็นยุทธศาสตร์หลักของสำนัก งานตำรวจแห่งชาติแล้ว เชื่อว่าภายใน 10 ปีวงการตำรวจจะดีขึ้น อาชญากรรมจะลดลง และสังคมไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน

           O แสดงว่าการทำงานของตำรวจมีจุดอ่อนเยอะมาก?

           
(พยัก หน้า) ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งของตำรวจคือการตรวจที่เกิดเหตุ ตำรวจเราไม่ได้เลือกเก็บร่องรอยหลักฐานที่สำคัญ ส่วนใหญ่เลือกเก็บหรือให้น้ำหนักเฉพาะหลักฐานทางฟิสิกส์เท่านั้น ได้แก่ เส้นผม เส้นขน หยดเลือด ทั้งๆ ที่ทุกอย่างในที่เกิดเหตุมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด โดยเฉพาะหลักฐานทางพฤติกรรม คนร้ายทำอะไรก่อนหลัง หลบหนีอย่างไร ต้องบันทึกให้ได้ทั้งหมด เทคนิคการบันทึกต้องมี ถ้าทำถูกต้อง คนที่ทำคดีคนต่อๆ ไปก็จะสานต่อได้

             ตำรวจต้องมีความรู้ อย่างคนร้ายนั้นแยกเป็น 4 ประเภท คือ 1.คนปกติ กระทำความผิดด้วยเหตุผลปกติ 2.มีความผิดปกติทางจิตใต้สำนึก 3.มีความผิดปกติทางอารมณ์ และ 4.สติแตก ฉะนั้นตำรวจต้องมีความรู้และมีข้อมูลเพียงพอ ถ้าไม่ฝังตัวอยู่ในชุมชนจะไม่รู้เลยว่าใครเป็นอย่างไร เมื่อไม่รู้ก็จะประเมินผิด และปฏิบัติผิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

             บางคนไล่ยิงคนอื่นเพราะสติแตกแล้วยิงตัวเองตาย แต่ตำรวจไม่มีข้อมูล หรือไปฟังข้อมูลผิดๆ มาบอกว่าคนนี้เสพยาบ้า การจัดการปัญหาก็จะแตกต่างกันไป และการแถลงข่าวก็จะมีการใส่ข้อมูลที่ผิดๆ ต่อไปอีก เช่น กระทำเพราะเสพยา หรือสงสัยว่าเป็นเครือข่ายค้ายาบ้า ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ใช่ก็ได้ ในส่วนของ บช.ก.ผมห้ามตำรวจให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุการตายหรือการกระทำความผิดโดยไม่มี หลักฐานยืนยัน เพราะจะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ตายหรือผู้เสียหาย

             O ในฐานะที่เป็นตำรวจในระบบเหมือนคนอื่นๆ อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันไปศึกษาวิชาตำรวจสมัยใหม่?

            สมัยที่ผมยังเป็นตำรวจเด็กๆ มีคดีมาเฟียมอนทรีออล (เมืองใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศแคนาดา) ค้ายาเสพติดในเมืองไทยเพื่อส่งไปอเมริกาเหนือ ผมได้รับคำสั่งให้คุมคดีนี้ แต่ตอนนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ต่างประเทศส่งมาซึ่งเป็นการใช้ วิธีสืบสวนสมัยใหม่ เราก็ทำแบบที่ทำๆ กันมา คือสายว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ปรากฏว่านำกำลังเข้าตรวจค้นแล้วพลาด กระทั่งคนร้ายเอาไปพูดกัน มีสายรายงานมาว่าคนร้ายบอกว่าโชคดีที่เจอตำรวจโง่

            หลังจากผิดพลาดในคดีนั้น ผมก็ถูกส่งไปต่างประเทศ ไปศึกษาวิทยาการตำรวจสมัยใหม่ แล้วกลับมาแก้ปัญหาใหม่ เก็บข้อมูลบุคคล เก็บข้อมูลชุมชนตั้งแต่ยังไม่มีการกระทำความผิด ก่อนจะวิเคราะห์ฟันธง การวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องต้องนำตรรกวิทยาแบบนิรนัยมาใช้ ต้องเฝ้าสังเกตพฤติกรรม แล้วจะจับกุมได้โดยอัตโนมัติเมื่อหลักฐานเพียงพอ ทั้งยังโยงไปถึงบุคคลต่างๆ ที่เป็นเครือข่ายได้อีก ไม่ใช่จับได้แค่ฟันเฟืองตัวเล็กๆ

             จากประสบการณ์ของตัวผมเอง ถ้าเราเก็บข้อมูลมาอย่างถูกต้อง แม้คนร้ายหนีไปต่างประเทศ เราส่งข้อมูลไป ตำรวจในต่างประเทศจะวิเคราะห์แล้วบอกได้เลยว่าคนร้ายน่าจะกบดานอยู่บริเวณ ไหน เพราะพฤติกรรมของคนร้ายจะบอกได้ ฉะนั้นตำรวจต้องทำงานกับชุมชนเพื่อที่จะรู้พฤติกรรมของคนตั้งแต่ก่อนกระทำ ความผิด ถ้าไปตามตอนเขาทำผิดแล้ว รับรองว่าเจอยาก

              ยกตัวอย่างคดีก่อการร้าย 2 คดีที่เพิ่งเกิดขึ้น (คดีจับกุมชายชาวเลบานอน และอิหร่าน) เราไม่มีข้อมูลอะไรเลย เมื่ออิสราเอลกับสหรัฐชี้ให้จับก็ต้องจับตามที่เขาบอก แต่ถ้าเราทำงานจริง เรามีข้อมูล เราจะโต้ได้ว่าคนนี้ไม่ได้มาก่อการร้าย แค่มาเที่ยวหรือพักผ่อน ถ้าเรามีข้อมูลการสืบสวนพฤติกรรม ก็จะมีคำตอบกับสังคม ต้องสืบสวนล่วงหน้า ต้องทำอย่างเป็นระบบ แต่ทุกวันนี้ลองไปเปิดรายงานประวัติบุคคลของเราดู เวลากดดูก็จะรู้แค่ว่าบ้านอยู่ที่ไหนเท่านั้น แต่ของต่างประเทศ เขาจะบอกหมดว่าเคยทำอะไร เกี่ยวข้องกับใคร ชอบไปที่ไหนบ้าง

             อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือช่วงที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ตำรวจเราไม่รู้เรื่องชุมชนเลย ไม่สามารถบอกข้อมูลชุมชนได้ เพราะไปตรวจตู้แดงอย่างเดียว ฉะนั้นเราต้องช่วยกันเบนงานตำรวจให้ไปในแนวทางที่ถูกต้องมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยเละเทะอย่างที่ผ่านมา ผมคิดว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน นักวิชาการ รวมทั้งสื่อ ต้องมาช่วยกันผ่าทางตัน เสนอทางออก

             ที่ผ่านมาวิธีการทำงานหรือยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ไม่ค่อยได้รับการเผยแพร่ การจะฝึกอบรมตำรวจต้องดึงตำรวจออกจากพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องยากและใช้งบประมาณมาก ฉะนั้นผมจึงเปลี่ยนวิธีใหม่ คือเข้าไปหา เจอตรงไหนก็สอนกันตรงนั้น มีกี่คนก็สอน ก็ทำไปเรื่อยๆ เมื่อเราให้ความรู้ ตำรวจก็จะมีองค์ความรู้ เมื่อตำรวจมีองค์ความรู้และเข้าไปทำงานตามทฤษฎีที่ถูกต้อง ก็จะลดการทุจริตอำนาจ

             ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องเดินไปพร้อมกันคือผู้บังคับบัญชาต้องให้ความดีความชอบกับตำรวจ ที่ทำดี ลดการใช้อำนาจเพื่อพวกพ้อง และชุมชนเองจะเป็นพลังให้ตำรวจดีๆ การสืบสวนสมัยใหม่จะทำเรื่องผิดให้เป็นถูกหรือถูกให้เป็นผิดไม่ได้ เพราะมีการบันทึกข้อมูลเป็นระยะๆ ต่อเนื่องมา โดยมีชุมชนเป็นผู้ตรวจสอบ แนวทางการทำงานแบบนี้จะช่วยลดสถิติของคดีที่ยกฟ้อง และแก้ปัญหา “แพะ” ในคดีอาญาได้ด้วย

             ในสายพานกระบวนการยุติธรรม ซึ่งบ้านเรามีตำรวจ อัยการ และศาล ทั้งสามหน่วยงานมีมุมมองที่แตกต่างกัน ตำรวจมักมองว่าคนร้ายที่จับกุมได้จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ถ้าไม่ผิดก็คงไม่จับ ด้วยเหตุนี้ถ้าอ่านสถานการณ์ผิด ได้ข้อมูลผิดๆ ก็จะส่งผลต่อรูปคดีจนไม่อาจอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะอัยการกับศาลจะมองที่หลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน ฉะนั้นตำรวจจึงต้องทำงานสืบสวนให้ถูกวิธี และต้องเริ่มต้นทันทีด้วย

........................................................................................................................

เมื่อตำรวจไทยสร้างชื่อ...ในวงการตำรวจโลก


          
เอ่ยชื่อ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ หรือ "เดอะกิ๊ก" คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร แต่ในแวดวงตำรวจทั้งในเมืองไทยและระดับโลกต่างรู้จักฝีมือเขาดี เพราะเขาเคยสืบสวนจับกุมคดีใหญ่ๆ ซึ่งเป็นคดีดังระดับโลกหลายต่อหลายคดี จนมีชื่ออยู่ใน ฮอลล์ ออฟ เฟม (หอเกียรติยศ) ของเอฟบีไอ

           คดีที่สร้างชื่อให้กับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ในวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ระหว่างประเทศ คือ "คิงคองเคส" ซึ่ง เป็นคดีกำราบมาเฟียระดับโลก Roland Rossignol ทำลายทั้งขบวนการและเครือข่ายค้ายาเสพติดรายใหญ่ ยึดทรัพย์สินได้ถึง 800 ล้าน จนเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองมอลทรีออล ประเทศแคนาดา ถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีเผยแพร่ทาง Discovery Channel

           นอกจากนั้นยังร่วมกับหน่วยสืบราชการลับของอเมริกา สืบสวนจับกุมขบวนการผลิตธนบัตรปลอม (ธนบัตรต่างประเทศ) บัตรเครดิตปลอม และกลุ่มอาชญากรทางเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์อีกคดีหนึ่ง มีผลงานแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หน่วยสืบราชการลับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

           สำหรับในประเทศไทยนั้น เขาเคยเป็นผู้นำการสืบสวนจนสามารถจับกุมและยึดของกลางยาเสพติดได้มากที่สุด เป็นประวัติการณ์ของเมืองไทย โดยทลายแหล่งผลิตยาเสพติดรายใหญ่ได้ถึง 7 โรงงาน และทำลายเครือข่ายผู้ลักลอบผลิตและจำหน่ายยาเสพติดรายใหญ่ในประเทศและต่าง ประเทศ จนได้รับการยอมรับอย่างสูงจากองค์กรตำรวจสากล

           ความสำเร็จของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ มาจากการนำเทคนิควิธีการสืบสวนของ "ตำรวจสมัยใหม่" มาใช้ทั้งในมิติการสืบสวน ปราบปราม และป้องกันอาชญากรรม เช่น ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน โดยนำมาปรับใช้ควบคู่กับการทำงานตำรวจปกติ ทั้งยังจัดตั้ง "หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์" ขึ้นเป็นแห่งแรกของทวีปเอเชีย เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของคนร้ายเพื่อเป็นข้อมูลประกอบหลักฐานด้านอื่นๆ จนสามารถคลี่คลายคดีสำคัญๆ ได้หลายคดี

           พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นชาว จ.สมุทรสาคร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ก่อนเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 31 แต่เมื่อสวมเครื่องแบบสีกากีแล้วก็ยังไม่หยุดหาความรู้ จึงไปศึกษาต่อจนจบปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            นอกจากนั้นยังผ่านการอบรมหลักสูตรตำรวจระดับนานาชาติ ทั้งของวิทยาลัยตำรวจแคนาดา R.C.M.P. หลักสูตรของหน่วยปราบปรามยาเสพติด
สหรัฐ หรือ D.E.A. หลักสูตรของหน่วยสืบราชการลับอเมริกา หรือ U.S.S. เป็นต้น

            พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เคยผ่านงานในตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย อาทิ สารวัตรใหญ่ สน.ท่าพระ สารวัตรใหญ่ สน.ยานนาวา ผู้กำกับการ 1 กองปราบ
ปราม 
ผู้ กำกับการ 2 กองปราบปราม ผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม รองผู้บังคับการปราบปราม และผงาดขึ้นเป็นผู้บังคับการกองปราบ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีบทบาทโดดเด่นเรื่องวางมาตรฐานการทำงานของตำรวจ และนำเสนอทฤษฎีตำรวจสมัยใหม่ให้กับวงการตำรวจไทย

..........ll..........
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และบล็อคoknation

ไม่มีความคิดเห็น: