จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผบช.ก. จับมือ UNODC จัดสัมมนาระดับนานาชาติ พัฒนาตำรวจผู้รับใช้ชุมชน

ผบช.ก. จับมือ UNODC จัดสัมมนาระดับนานาชาติ พัฒนาตำรวจผู้รับใช้ชุมชน
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352875979&grpid&catid=19&subcatid=1905

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉ

ายา พันธุ์ ผบช.ก. เปิดการสัมมนาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (CPO) ตามโครงการคืนชุมชนสีขาวให้สังคมโดยตำรวจทางหลวง ภายใต้หลักการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวว่าสืบเนื่องจาก หน่วยงานของสหประชาติ โดย UNODC หรือสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ไห้ความสำคัญและมาร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ของ บช.ก. ด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงผู้รับใช้ชุมชน ที่ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 40 ชุมชน ตั้งแต่เดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา UNODC จึงสนับสนุนงบประมาณให้กับ บช.ก. ในการจัดสัมมนาทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตำรวจทางหลวงผู้รับใช้ชุมชนทั่ว ประเทศ พร้อมผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อประเมินผลการปฏิบัติ แลกเปลี่ยนความเห็น และหาจุดอ่อนจุดแข็ง เพื่อนำไปพัฒนาให้ดีขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) ผู้แทนตำรวจจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้แทนตำรวจจากกัมพูชา และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมสัมมนารวม 250 คน

สำหรับ Community Policing ถูกบรรจุในยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะนำไปปฏิบัติเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2564 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในเรื่องการเสริมสร้างความมีส่วนร่วม เครือข่ายภาคประชาชนและ บูรณาการทุกภาคส่วน โดยเน้นชุมชนเข้มแข็งในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและสร้างจิตสำนึกให้ ประชาชนมีส่วนรับผิดชอบในการป้องกันและแก้ปัญหาอาชญากรรม, การแก้ปัญหายาเสพติด, แก้ปัญหาการล่วงละเมิดและกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจเอเซียน(AEC) ในปี 2558 นี้

ปัจจุบันกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้นำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)มาประยุกต์ใช้ทั้งในชุมชนที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะเครือข่าย และลักษณะผสมในหน้างานความรับผิดชอบ โดยได้ดำเนินการมาเป็นระยะหนึ่งแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติเริ่มมีความคุ้นเคยกับทฤษฎี ได้มีการนำไปปฏิบัติ และเริ่มมีผลงานออกมาให้เห็น ทั้งในด้านการลดความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม ประชาชนพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และชุมชนมีความเข้มแข็ง ทำให้การดำเนินงานตำรวจผู้รับใช้ชุมชนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้รับ ความสนใจจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ (นานาชาติ) เช่น ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เป็นต้น

ผบช.ก. กล่าวอีกว่า โดยตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) คือการที่ตำรวจและชุมชนทำงานร่วมกัน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และให้บริการ (Police and community working together to protect and serve) ทฤษฎีนี้เป็นการปฏิบัติงานเชิงรุก (Proactive) ในการแก้ปัญหาอาชญากรรม โดยมุ่งส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจและชุมชน เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ลดความหวาดระแวงระหว่างตำรวจกับประชาชน และแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบของชุมชน โดยเทคนิคนี้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ทฤษฎีนี้มีจุดเริ่มต้นจาก เซอร์ โรเบิร์ต พีล (Sir Robert Peel) ผู้ก่อตั้งตำรวจมหานครลอนดอน หรือ สก็อตแลนด์ยาร์ด ในช่วงศตวรรษที่ 19 เจ้าของคำพูดที่ว่า “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” (The Police are the Public and the Public are the Police) และถูกสานต่อจนกลายเป็นทฤษฎีโดยโรเบริ์ต โทรจาโนวิค (Robert Trojanowicz) โดยได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 70 ต่อมาแนวทางนี้ได้รับความสนใจ ถูกนำไปประยุกต์ใช้ มีการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ใช้ป้องกันอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีประเทศต่างๆ มากกว่า 90% ในโลกนำไปใช้ เช่น ประเทศแคนาดา ประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้น

ขอบคุณข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน

ติตตามข่าวสารตำรวจผู้รับใช้ชุมชนได้ที่
http://www.facebook.com/communitypolicingthailand

ไม่มีความคิดเห็น: