จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

"พงศ์พัฒน์"เอาจริง ตำรวจยุคใหม่! ไม่รังแก-ไม่รุมทึ้งคนจน

"พงศ์พัฒน์"เอาจริง ตำรวจยุคใหม่! ไม่รังแก-ไม่รุมทึ้งคนจน

照片 814.jpg


"รู้สึก เห็นใจและเข้าใจพ่อค้าแม่ค้าดีว่ากว่าจะขายของได้เงินนั้นลำบากแค่ไหน วันไหนฝนตกก็อดขายของไม่ได้เงินกลับบ้าน แค่เจอภัยธรรมชาติก็ลำบากมากแล้ว ยังต้องมาเจอภัยเจ้าพนักงานอีก"

"เจ้าพนักงานที่เอาพ่อค้าแม่ค้าไปปรับโดยออกใบเสร็จปลอม ถือว่าไม่เกรงใจคนหาเช้ากินค่ำที่แม้มีรายได้น้อย ก็ยังอุตส่าห์เสียค่าปรับเอาเงินเข้าหลวง แต่เจ้าพนักงานกลับเอาเงินไปเข้ากระเป๋าตัวเอง เบียดบังเงินที่จะเข้าหลวง งานนี้เรียกว่าทุจริตถึง 2 ต่อแบบทูอินวันเลยทีเดียว"

เป็นคำพูดง่ายๆจากใจของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. กับการลงมาเป็นแบ็กอัพเล่นงานขบวนการทุจริตปลอมใบเสร็จค่าปรับพ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอยของเจ้าหน้าที่เทศกิจเขตบางรัก

เป็นคดีใหญ่อีกคดี เพราะคนที่เปิดโปงไม่ใช่ คนธรรมดา มีตำแหน่งใหญ่ระดับหัวหน้าเทศกิจเขตบางรัก และผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ตกเป็น "เหยื่อ" คือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยหาเช้ากินค่ำ





ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นการกระทำของเจ้า-หน้าที่คนเดียว จะต้องมีผู้ร่วมมือทำกันเป็นขบวนการแต่จะเป็นระดับไหนเท่านั้น เพราะเรื่องที่เกิดมานานหลายปี แต่ไม่มีใครดำเนินการเพราะมีผลประโยชน์มากมายเกี่ยวข้อง

แสดงให้เห็นว่า "การทุจริต" เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมไทยมานาน ทุกหน่วยงานแต่ละวงการมีการทุจริตที่แตกต่างกันไปตามอำนาจหน้าที่ การให้คุณให้โทษ ช่องโอกาส วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนการตรวจสอบ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การทุจริต คอรัปชัน มีกันอยู่ทุกวงการ

แต่เป็นนโยบายสำคัญของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ คิดปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมตำรวจที่ว่า "ต้องไม่รังแกประชาชน ไม่รุมทึ้งประชาชน" คาดหวังว่าเมื่อการทุจริตหมดไป สังคมและประเทศชาติก็จะดีขึ้น

โดยเฉพาะองค์กรตำรวจแบบใหม่ ทำอะไรก็ได้ที่ตรงกันข้ามกับที่ทำอยู่ในทุกวันนี้

มีการนำทฤษฎี งานวิจัย ศาสตร์ วิชาการตำรวจที่ได้เคยปฏิบัติมาจนได้รับการยอมรับในต่างประเทศ เป็นเครื่องเตือนสติ ตำรวจรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ก้าวให้ ทันต่อโลกปัจจุบัน จุดประกายการเปลี่ยน แปลงตำรวจ






จากนโยบาย "ตำรวจ ยุคใหม่ ไม่ทำผิด" ที่เกิดจากประสบการณ์จากการปฏิบัติทฤษฎีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ชี้ให้เห็นถึงข้อแตกต่างของทฤษฎีแบบเก่าและทฤษฎีแบบใหม่ ข้อดี-ข้อเสียของการทำ และไม่ทำให้เห็นความจำเป็นในการปฏิบัติตามแนวทางใหม่ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และหลักของความยุติธรรม ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ให้จัดนิทรรศการเผยแพร่

ความรู้ให้กับข้าราชการตำรวจและพี่น้องประชาชน จนมีการจัดนิทรรศการใหญ่ "ประชาชนกับตำรวจ" ที่ห้างสยามพารากอน กทม.

การใช้ทฤษฎีใช้แก้ปัญหา ปรับใช้กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยล่าสุดมอบหมาย พ.ต.อ. ทินกร  รังมาตย์  ผกก.6 บก.ป. อดีตนายตำรวจที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตัวหลักร่วมกับหน่วย งาน  บช.ก.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดนิทรรศการ "ใครคือ ผู้ก่อการร้าย"

โดยนำแนวคิดสมัยที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็น ผกก.2 บก.ป. รับผิดชอบจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประสบการณ์สมัยได้เคยผ่านการศึกษาอบรมในหลักสูตรตำรวจของประเทศสหรัฐ อเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร มาถ่ายทอดให้ความรู้ประชาชน เจ้าหน้าที่ ภายใต้นิยามว่า

"ผู้ก่อการร้ายเคยชนะในประเทศประชาธิปไตยที่เคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชน"

เป็นการเตือนสติพี่น้องคนไทย โดยนำกึ๋นความรู้ของตำรวจอาชีพประกาศต่อสังคม






พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ไม่หยุดคิดหาทางเปลี่ยน- แปลงสังคม ปรับเปลี่ยนตำรวจให้เป็นตำรวจผู้รับใช้ ชุมชน มองตำรวจกับประชาชนต้องคุ้นเคยกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่จนกลายเป็นอาชญากรรม

เป็นยุคของตำรวจสอบสวนกลางที่ต้องกลับหลังหัน......

"ปัญหาใหญ่ในบ้านเมืองเรา คือคนมองนักวิชาการไม่ได้เป็นผู้ปฏิบัติ นักวิชาการมองผู้ปฏิบัติไม่ใช้วิชาการ กลายเป็นจุดอ่อน คนที่ศึกษาวิชาการ และนำมาปฏิบัติได้  โดยยึดหลักการที่ถูกต้องจะไม่ เกิดความเสียหาย ผิดพลาด งานตำรวจซับซ้อนมาก องค์กรตำรวจที่ดีต้องเรียนรู้อดีต ทำอะไรเกิดผลอย่างไร  ไม่ใช่เดินไปข้างหน้าไม่มองผล  รู้ว่าทำผิดพลาด คิดแก้เดินทิศทางที่ถูกต้อง"

"บช.ก.พยายามทำให้ได้ทุกเรื่อง แต่ต้องยอมรับว่าทำทั้งหมดพร้อมกันไม่ได้ ต้องสร้างวัฒนธรรมเป็นเรื่องๆไป แต่ที่เน้นที่สุดคือ ไม่รังแกคนจน ไม่รุมทึ้งประชาชนที่พลาดหรือไม่มีทางเลือกต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรม สร้างทุกเรื่องถูกต่อต้านรับไม่ไหว แต่สร้างบางเรื่องเป็นขั้นตอน โอกาสชนะมีสูง ไม่กลัวถูกต่อต้าน แต่กลัวทำไม่สำเร็จ"

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์เปิดใจเป็นครั้งแรกกับแนวคิดที่ต่างจากตำรวจไทยในอดีต แต่เป็นสิ่งที่ตำรวจทั่วโลกได้รับรู้กันมาแล้ว

"ที่ผ่านมาตำรวจไทยยังไม่มีความรู้เรื่องวิชาตำรวจศาสตร์ (Police Science) และไม่มีการเปิดสอนมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้น การปฏิบัติของตำรวจจึงปฏิบัติผิดหลักวิชาการมาโดยตลอด การทำงานทุกวันนี้อาศัยการทำสิ่งที่เคยทำกันมาในอดีต แล้วคิดว่าสิ่งที่ทำต่อๆกันมานั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีใครนำมาพิจารณาและศึกษาวิจัยอย่างแท้จริงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ ถูกหรือผิด เคยทำผิดๆอย่างไรก็ทำตามกันไปอย่างนั้น ตรงกับคำในภาษาวิชาการตำรวจว่า Sacred Cow ซึ่งเปรียบเทียบกับความเชื่อของชาวฮินดู  ที่เชื่อเรื่องวัวเป็นสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ไม่มีใครกล้าแตะต้อง  คนรุ่นหลังก็ถือปฏิบัติตามๆกันไป"

"จากประสบการณ์ที่มีโอกาสดูงาน ได้ทำงานในหน่วยงานตำรวจสำคัญในหลายประเทศ ทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร เป็นข้อได้เปรียบกว่าคนอื่น จึงทำให้เกิดความฝันในการปรับสถานีตำรวจให้เอื้อต่อการทำงาน คิดสร้างสถานที่ฝึกอบรมของ บช.ก. ที่หนองสาหร่าย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมตำรวจทุกหน่วยให้มีความเข้าใจทฤษฎี หลักการปฏิบัติเทียบชั้นต่างประเทศ คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ตำรวจต้องคิดมานานแล้วแต่ไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องราว"

"ตำรวจต้องมีความเข้าใจในเรื่องการป้องกัน สืบสวน และการพูดที่ดี ซึ่งทุกเรื่อง ต้องใช้การฝึกอบรมตามทฤษฎีสมัยใหม่"





"องค์กรที่ดี ต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ดังนั้น ตำรวจจึงควรเริ่มศึกษาหาความรู้เรื่องวิชาตำรวจศาสตร์อย่างจริงจังเสียที เมื่อตำรวจมีความรู้

ก็จะรู้ได้เองว่าอะไรผิดอะไรถูก จากนั้นก็เริ่มตั้งต้นใหม่ ทำในสิ่งที่ถูก เลิกทำสิ่งที่ผิด รู้ว่าทำอะไรจะเกิดผลที่ตามมาอย่างไร ทำเช่นนี้ประชาชนไม่ชอบ"

"การเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องจากวิชาการตำรวจอย่างแท้จริง จะช่วยให้ตำรวจเดินไปถูกทิศทาง ไม่ หลงทิศทางทำผิดๆ เหมือนที่ทำกันอยู่ในทุกวันนี้ ตำรวจต้องเรียนรู้ระหว่างตำรวจ การไม่เคารพ ไม่ให้ เกียรติซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดจะทำให้องค์กรตำรวจละลาย"

"เพราะฉะนั้น   ตำรวจต้องรักเข้าใจ เมตตาต่อกัน ตำรวจต้องเรียนรู้ในวิชาการ วิชาสืบสวน วิชาป้องกัน ต้องรู้ว่าคนร้ายมีกี่ประเภท  การตั้งโจทย์คนร้ายไม่แตก ทำให้ผิดพลาด"

"ผลจากที่ไม่คิดเรียนรู้วิชาการสมัยใหม่ คิดแต่ว่าเก่ง พูดกันไป 100 ปี เกิดมาอีกชาติไม่มีทางเก่ง หากไม่คิดเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง การสืบสวนผิดในโลกสมัยใหม่พลาดคือติดคุก ตำรวจเป็นแสนคนสร้างผลงานมาตลอด คนหนึ่งมาทำลาย"

"ผมลงทุนลงแรงมาตลอดระยะเวลา 26 ปี เพื่อจะบอกกับเพื่อนตำรวจ บอกประชาชนว่า ระบบการรักษาความสงบสุขของสังคมไทย รวมทั้งเทคนิคต่างๆจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากโดยทันที มาถึงวันนี้แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว ส่วนจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ นั่นขึ้นอยู่กับทุกคนช่วยกันหรือไม่"

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ได้แสดงให้เห็นแนวทาง การปฏิบัติงานและการจัดการของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจไทยหรือตำรวจต่างประเทศ ล้วนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตลอด และยังคงต้องมีต่อไปในอนาคต

เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดในวงการตำรวจ

ไม่มีตำรวจคนไหนมีเครดิตพอที่จะพูดให้ตำรวจยอมรับความผิดพลาด ผิดหลักวิชาการ ความเข้าใจผิด คิดผิดจนทุกวันนี้ โดยเฉพาะวิชาตำรวจศาสตร์.


"ทีมข่าวอาชญากรรม"
ขอขอบคุณ ข้อมุลจาก
 

ไม่มีความคิดเห็น: