จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2554

กระชับพื้นที่มหาวิทยาลัยถูกจับห้าม"สติแตก"



คมชัดลึก : "...กรี๊ดดดดดดด...ช่วยด้วยค่ะ..." เสียงของหญิงสาวกรีดร้องขอความช่วยเหลือ หลังจากถูกชายไม่ทราบชื่อล็อกคอ เอามีดจ่ออยู่ที่คอ ท่ามกลางความตื่นตระหนกตกใจของนักศึกษาและประชาชนที่อยู่บริเวณใต้ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นอย่างมาก

ขณะที่ตำรวจหลายนายต่างยืนห้อมล้อมพยายามเจรจาช่วยเหลือหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่ออยู่ด้วยใจระทึกแต่มีสติ ส่วนหญิงสาวพยายามแสร้งทำทีว่ายืนไม่ไหว กำลังจะทรุดลงกองกับพื้น...จังหวะนี้เองที่ทำให้คนร้ายเสียจังหวะ ประกอบกับความรวดเร็วที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีของตำรวจเข้าชาร์จจับกุมชายผู้ก่อเหตุได้อย่างฉับไว โดยที่ไม่มีใครต้องบาดเจ็บหรือสูญเสีย !!

นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์จำลอง "การจับตัวประกัน" ของนิทรรศการมีชีวิต ตามหลักคิดตำรวจยุคใหม่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก) ที่สอดแทรกแง่คิดและหลักการเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อ ด้วยวิธีการป้องกันไม่ให้ "สติแตก" ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ "นักศึกษา-ประชาชน-ตำรวจ" การทำงานเชิงรุกของตำรวจที่ต้องการสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกัน

"เหตุการณ์ถูกจับเป็นตัวประกัน เจ้าหน้าที่จะมีการเจรจา ต่อรอง นำน้ำนำอาหารไปให้ ถ้าหากประเมินแล้วว่า ตัวประกันไม่ไหว อาจต้องใช้กระสุนยาง ส่วนคนที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ต้องตั้งสติให้ดี พยายามนั่งลงเหมือนคนหมดแรง คนร้ายจะลากไปแล้วจะทำอะไรก็ลำบาก เพราะต้องกังวลว่าตำรวจจะเข้าชาร์จและยังต้องกังวลตัวประกันด้วย" พ.ต.ท.สมบัติ มีมงคล สารวัตรกองกำกับการ 5 กองปราบปราม นายตำรวจที่บุกเข้าชาร์จคนร้ายเมื่อสักครู่ เผยเคล็ดวิธี

พ.ต.ท.สมบัติ ยังบอกด้วยว่า ปัญหาอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นได้จาก 4 ปัจจัย คือ ทรัพย์ เซ็กส์ ศักดิ์ศรี และสติแตก หรือการขาดสตินั่นเอง โดยจะพยายามสอนน้องๆ นักศึกษาให้รู้จักวิธีป้องกันตัวเองเล็กๆ น้อยๆ เช่น หากโดนคนร้ายชิงทรัพย์ด้วยการดึงแขน บีบคอ ต้องทำอย่างไร มีเทคนิคอย่างไร แต่สุดท้ายก็ต้องรีบวิ่งหนีจากคนร้ายให้เร็วที่สุด

"จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำน้องนักศึกษาอยู่ตามจุดต่างๆ ถ้าใครต้องเจอเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง สติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะทั้งน้องและตำรวจเอง สติสำคัญที่สุด" พล.ต.ต.เชิด ชูเวช รอง ผบช.ก. เสริมและบอกว่า จะหวังพึ่งตำรวจอย่างเดียว คงไม่สามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมได้หมด ต้องอาศัยเบาะแสจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ "นักศึกษา" เป็นบุคลากรที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ พวกเขาควรรับรู้ มีส่วนช่วยตำรวจได้อย่างไร ตลอดจนรู้ว่าตำรวจกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งตำรวจมีทั้งแง่ดีและไม่ดี พร้อมกันนี้ก็อยากรับฟังคำแนะนำถึงข้อผิดพลาดของตำรวจด้วย

อีกก้าวของการพลิกบทบาทตำรวจยุคใหม่... ลงลึกเข้าถึงพื้นที่กระจายกำลังความรู้สู่ชุมชนและมหาวิทยาลัย เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดอาชญากรรม ด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจแก่บรรดานักศึกษา ช่วยกันสำรวจตรวจดูว่าพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยกำลังกลายเป็นแหล่งมั่วสุม ยั่วยวนให้ประพฤติตนไม่เหมาะสมหรือไม่

หลังจากเต็มอิ่มกับความรู้จากนิทรรศการเคลื่อนที่ครั้งนี้ นักศึกษาบางอาจเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นตำรวจขึ้นมา ก็ลองมาปรึกษาพี่ๆ ตำรวจในงานนี้ได้ เพราะตอนนี้กำลังเปิดรับสมัครและสอบแข่งขัน บุคคลภายนอกผู้มีวุฒิปริญญาตรี เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน พ.ศ.2554 จำนวน 6,600 อัตรา ในสายป้องกันปราบปรามและอำนวยการด้วยพอดี

ส่วนใครพลาดการชมนิทรรศการ "นักศึกษา-ประชาชน-ตำรวจ" ครั้งนี้ ติดตามชมได้อีกครั้งที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในวันที่ 25-29 เมษายนนี้

ไม่มีความคิดเห็น: