จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"กองปราบปราม"โหมงานเชิงรุก เร่งสร้างภูมิคุ้มกันอนาคตชาติ!


วันเสาร์ ที่ 25 มิถุนายน 2554

ใน ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หากใครมีโอกาสผ่านไปบริเวณใต้ถุนอาคารมหิตลาธิเบศร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงจะพบเรื่องแปลกตาไปบ้าง หลังพบตำรวจกองปราบปรามจำนวนมากไปป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณดังกล่าว เรียกว่า มีทั้ง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. รวมไปถึง พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.5 บก.ป. ในฐานะหัวหน้าทีมงานผู้รับผิดชอบการจัดโครงการนิทรรศการ “นักศึกษา ประชาชน และตำรวจ” ที่ยกทีมเดินสายไปทำกิจกรรมกับบรรดาอนาคตของชาติ ถือว่าเป็นการทำงานเชิงรุกนอกจากปราบปรามจับกุมคนร้ายแล้วยังแบ่งเวลาออกทำ งานในเชิงนโยบายเพื่อนำเรื่องราวดี ๆ ของตำรวจออกมาเผยแพร่สู่สายตาประชาชน

ภายในงานมีการนำเสนอเรื่องราวตามหลักวิชาการของตำรวจหลากหลายอย่างที่น่า สนใจ โดยเฉพาะทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำไปใช้จนประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศ ทฤษฎีนี้พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เจ้าของไอเดียบรรเจิด เป็นผู้ทดลองใช้จนเกิดผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง รอง ผกก. หัวหน้าโรงพักบางขุนนนท์ จนทำให้ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดในพื้นที่นั้นลดลงอย่างมาก

โครงการ นี้ถูกจัดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ หลัก ๆ 3 ข้อด้วยกัน คือ เรื่องแรก เพื่อเผยแพร่ทฤษฎีตำรวจยุคใหม่ เทคนิควิธี การรักษาความสงบสุขของสังคม ในการป้องกันอาชญากรรม ให้กับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา เพื่อจะได้นำไปเผยแพร่ ให้กับประชาชนในการรักษาความสงบเรียบร้อย และการป้องกันอาชญากรรม สองคือต้องการลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชน ผ่านทางนิสิตนักศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในการให้ข้อมูล ข่าวสาร ที่ตำรวจจะสามารถนำมาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมและเสริมสร้างความสงบสุขของ สังคมได้ดียิ่งขึ้น และ สุดท้าย คือ ให้นิสิตนักศึกษารู้จักตำรวจมากขึ้น แถมยังมีการแนะแนวการสอบเข้ารับราชการตำรวจให้นักศึกษาได้เข้าใจในเส้นทาง การสมัครสอบเข้า

ตัวอย่างมุมที่น่าสนใจสำหรับอาจารย์และนิสิตนัก ศึกษา ที่ทางตำรวจนำมาแนะนำ ก็คือ การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรมในมหาวิทยาลัย ว่าต้องทำอย่างไรบ้างถึงจะช่วยป้องอาชญากรรมได้ เช่น การเฝ้าระวังโดยธรรมชาติ ที่จะต้องทำสถานที่ให้ดูโล่ง ทำความสะอาดเรียบร้อย เอาสิ่งกำบังสายตาออกไปเพื่อให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นผู้บุกรุกได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการควบคุมการเข้าออกโดยธรรมชาติ เช่น การใช้ประตูรั้ว แนวต้นไม้ คูน้ำ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ตั้งโต๊ะต้อนรับ หรือตรวจตราการเข้าออก รวมไปถึง การใช้สิ่งกีดขวางทางจิตวิทยา เช่น การติดป้าย ทำไม้กั้น เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่นี้เป็นที่เฉพาะ เมื่อเข้าออกได้ยากกว่าพื้นที่ธรรมดาแล้ว คนร้ายก็ไม่อยากเข้ามารบกวน นอกจากนี้ยังมีช่องทางในการแจ้งเบาะแสอาชญากรรมให้ทางตำรวจไม่ว่าจะเป็นทาง หมายเลขโทรศัพท์ตรงของหน่วยงานต่าง ๆ เว็บไซต์ อีเมล หนังสือร้องเรียน ฯลฯ

ด้านหนึ่งของนิทรรศการยังมีการนำเสนอถึงภูมิคุ้มกันของวัยรุ่นให้บรรดาผู้ ปกครองเข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า วัยรุ่นนั้นมีพัฒนาการในด้านร่างกาย จิตใจและสังคมอย่างไรบ้าง และปัญหาของวัยรุ่นมีอะไรบ้าง เช่น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ปัญหาการใช้สารเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น รวมทั้งนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาว่าต้องทำอย่างไร เช่น ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง ให้ความรักความอบอุ่น ฝึกให้รู้จักกับระเบียบวินัย ให้รู้จักคบเพื่อน รู้จักแก้ปัญหาให้ถูกต้อง และปฏิเสธสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

จากนั้นก็ปิดท้ายมุมด้านปัญหาของวัยรุ่นนี้ด้วยประโยคที่ว่า “เด็กจะไม่ติดเกม ไม่ติดเพื่อน ไม่หนีออกจากบ้าน ถ้าเขามีที่พักใจ มีบ้านที่อบอุ่น มีพ่อแม่ที่มีเวลา และพร้อมที่จะเดินเคียงข้างไปกับเขา เป็นภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องใดผ่านเข้ามาในชีวิต” ซึ่งเป็นคติเตือนใจให้กับเหล่าผู้ปกครองได้หันกลับมามองลูกหลานของตัวเอง เพื่อหาวิธีการปกป้องไม่ให้เป็นปัญหาสังคมด้วย

อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ “ต้นไม้อาชญากรรม” ที่บ่งบอกถึงการปราบปรามอาชญากรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ ซึ่งการแก้ปัญหาอาชญากรรมให้ได้ผลนั้นควรทำอย่างไรให้ดูที่ต้นไม้อาชญากรรม นี้ โดยในรูปภาพจะแบ่งส่วน ลำต้น ให้เห็นเป็นอวิชชา ความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตำรวจ และส่วน ผลกับใบ คืออาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ค้ายาบ้า ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ค้าอาวุธ พนันฟุตบอล เมาแล้วขับ ฯลฯ ส่วนด้านล่างใต้ดินคือ ราก ของต้นไม้นั้น จะชี้ให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกระทำผิด เช่น ปัญหาครอบครัวไม่อบอุ่น แตกแยก ฟุ้งเฟ้อเกินตัว ค่านิยมผิด แยกแยะชั่วดีไม่ได้ เห็นแก่ตัว ไม่กลัวบาป ฯลฯ

แต่ไฮไลต์ที่เรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดให้กับบรรดานิสิตนักศึกษาคงหนีไม่พ้น ตัวมาสคอต “ร.ต.อ.เต็มใจ ให้บริการ” หรือ “ผู้กองเต็มใจ” ที่จะร่วมออกไปทำกิจกรรรมเชิงสัญลักษณ์ปฏิบัติหน้าที่พบปะกับประชาชนตาม ชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ สถานศึกษา หรือที่พักอาศัย เพื่อหาความร่วมมือและความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้มีบรรดานิสิตนักศึกษาให้ความสนใจแห่กันเข้ามาขอถ่าย รูปคู่กับ “ผู้กองเต็มใจ” ด้วยเป็นจำนวนมาก

พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.5 บก.ป. ในฐานะหัวหน้าทีมงานผู้รับผิดชอบการจัดโครงการนี้ กล่าวว่า แนวคิดและวิธีการต่าง ๆ มาจากทฤษฎีที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในต่างประเทศทั้งสิ้น และทาง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป.ได้จัดนิทรรศการนักศึกษา ประชาชน และตำรวจ ในมหาวิทยาลัยมาแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ม.รังสิต ม.ธรรมศาสตร์ และม.รามคำแหง ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากคณาจารย์และนักศึกษา เป็นอย่างมาก เพราะเป็นความรู้ที่ตำรวจไม่เคยนำมาเผยแพร่ เนื้อหาต่าง ๆ ก็จัดแสดงให้ประชาชนเข้าใจง่าย.

"กองปราบสานอนาคต"

โครงการ กองปราบสานอนาคต นอกจากจะตระเวนเดินสายตามมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองกรุงแล้ว ยังเริ่มลงพื้นที่โรงเรียนและชุมชนในต่างจังหวัดเช่นกัน โดยมี พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.5 บก.ป. พ.ต.ท.อภิชัย ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ รอง ผกก.5 บก.ป. พ.ต.ท.ศตยุ ไชยสุวรรณ์ สว.กก.5 บก.ป. นำทีมตำรวจกองปราบปรามออกทำกิจกรรมเพื่อบ่มเพาะสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม รวมทั้งปลูกฝังความรู้ จิตสำนึกที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ในอนาคตเด็กอาจจะพบกับอบายมุข หรือสิ่งเสพติดต่าง ๆ แต่ก็จะสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องถูกวิธีการ และไม่ตกไปอยู่ในขุมแห่งความเลวร้าย สามารถเติบโตเป็นคนดีของสังคม ประเทศชาติต่อไปได้ ก่อนหน้านี้พ.ต.อ.อธิป ก็เพิ่งนำทีมงานลงไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากทั้งนักเรียน คุณครู และผู้ปกครองในระดับดี.

รัชพล ยี่สุ่น-วรทัศน์ กองทรัพย์โต : รายงาน
ที่มา
ลิงก์http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=611&contentID=147137

ไม่มีความคิดเห็น: