จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555





พิสูจน์ทฤษฎีใหม่'ตร.รับใช้ชุมชน'

บช.ก.พิสูจน์ทฤษฎีใหม่ จัดทัพ'ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน' : ตะลุยข่าว โต๊ะรายงานพิเศษ

                  บัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ-สารวัตร เริ่มทยอยคลอดออกมาให้เห็น หลังจากเข้าสู่เส้นตายเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา บางกองบัญชาการถึงกับหืดขึ้นคอ เพราะกว่าจะจัดทัพวางคนได้ลงตัวก็นับว่ายากยิ่ง ต้องยอมรับว่า นายตำรวจหลายคนมีตั๋วฝากมาจากสายการเมือง หรือไม่ก็อยู่ใกล้ชิดผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เหล่านี้ทำให้ผู้บัญชาการซึ่งเป็นผู้เซ็นคำสั่ง ต้องวางคนเพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ แม้จะมีเด็กฝากบ้าง แต่โดยรวมก็ถือว่ารับได้
    
                 ในหน่วยงานหลักอย่างกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีกำลังพลกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องถือว่านิ่งที่สุด เพราะ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ได้ จัดทำบัญชีเพื่อรองรับนโยบาย โดยพิจารณาจากผลงาน ความรู้ ความสามารถ ครั้งนี้เป็นการแต่งตั้ง โดยเน้นผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนายตำรวจที่ถูกส่งเข้าไปพิสูจน์ "ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ตามแนวคิดใหม่ของผบช.ก. ซึ่งริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

                 หากพิจารณานายตำรวจในสังกัด บช.ก.ที่ได้รับการสนับสนุนจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ หลังจากขานรับนโยบายนำไปปฏิบัติจนลุล่วงถือว่าเป็นผลงานผู้ที่ได้รับการ พิจารณาแต่งตั้งในตำแหน่งสูงขึ้น เช่น พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ได้เลื่อนจาก ผกก.ปพ.บก.ป. ขึ้นเป็น รองผบก.ป. เนื่องจากเป็นหนึ่งในมือทำงานด้านการสืบสวนปราบปรามและนำกำลังสนับสนุน นโยบายตำรวจผู้รับใช้ชุมชน จนได้ผลในทางปฏิบัติ

                 พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.5 บก.ป. ที่คุมงานปราบปรามภาคใต้ตอนล่าง ถือว่าเป็นนายตำรวจอีกผู้หนึ่งที่ถูกจับตาหลังจากเขียนแผนงานด้านงบประมาณ จนรัฐบาลเพิ่มงบให้หลายหน่วยในสังกัดบช.ก. ปี ที่ผ่านมา ได้ย้ายเข้ามานั่งเก้าอี้ ผกก.ปพ.บก.ป.คุมหน่วยคอมมานโด กำลังหลักของกองปราบฯ รวมถึง พ.ต.อ.นิรันดร์ นามสุวรรณ โยกจาก ผกก.3 บก.ป. มาที่ ผกก.2 บก.ป.และพ.ต.ท.วัชรพล ทองล้วน รองผกก.ปพ.บก.ป. ขึ้นนั่งเก้าอี้ ผกก.5 บก.ป.

                 ระดับปฏิบัติ พ.ต.ท.อภิชัย ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ รองผกก.5 บก.ป. ซึ่งเป็นหัวหน้าตำรวจผู้รับใช้ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เขตชุมชนทดลอง ที่ส่ง จ.ส.ต.วิชัย จำเริญ ผบ.หมู่ กก.5 บก.ป. จ.ส.ต.มนัส มังน้อย ผบ.หมู่ กก.5 บก.ป.ลงพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนให้เป็น ผกก.2 บก.ทล. รับผิดชอบ จ.นครปฐม เพื่อสานต่อโครงการเดิม

                 ผบช.ก.เชื่อว่า การบริหารงานตำรวจยุคใหม่ แตกต่างจากการบริหารงานยุคเก่าโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาตำรวจจะใช้การบริหารงานแบบบนลงล่าง ผู้บังคับบัญชาจะสั่งการให้ทำ กำหนดวิธีการให้ปฏิบัติ จากนั้นจะใช้วิธีการจับผิด และลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม

                 "สำหรับการบริหารงานยุคใหม่ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีหน้าที่ชักจูงให้ตำรวจร่วมกันทำงาน โดยไม่ใช้การบังคับ ดังนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์จริงๆ จึงจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นผู้นำหน่วยได้ เพราะจะต้องให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ รู้เทคนิควิธีการทำงาน ตลอดจนใช้หลักจิตวิทยา เพื่อชักจูงใจให้ตำรวจร่วมมือกันทำงานให้บรรลุผล โดยไม่ใช้การบังคับ เพราะความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถบังคับตำรวจให้ทำงานได้ ถ้าถูกบังคับเขาก็จะทำเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น ผู้บริหารยุคใหม่ต้องยอมรับในเรื่องนี้" ผบช.ก.อธิบาย

                 หากเทียบเคียงงานตำรวจชุมชนสัมพันธ์และตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นงานที่คล้ายกัน แต่หากศึกษาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า ตำรวจชุมชนสัมพันธ์นั้นเป็นทฤษฎีตรงข้ามกับตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ซึ่งดำเนินงานในลักษณะบนลงล่าง ตำรวจเป็นฝ่ายกำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด ประชาชนเป็นฝ่ายให้ความร่วมมือ โดยไม่นำเอาข้อมูลจากฝ่ายประชาชนมากำหนดกิจกรรม ดังนั้นสิ่งที่ตำรวจทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการก็ได้ สุดท้าย ตำรวจชุมชนสัมพันธ์จึงใช้ไม่ได้ผล ไม่สามารถลดอาชญากรรมได้

                 "ตำรวจทั่วโลกส่วนใหญ่เลิกใช้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ไปแล้ว สำหรับตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเป็นการทำงานในแบบล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่ความร่วมมือทำกิจกรรม โดยประชาชนเป็นผู้บอกปัญหาและให้ความร่วมมือในการวางแผน ดังนั้นกิจกรรมจึงสนองตอบความต้องการของประชาชน ผลคือสามารถแก้ปัญหาในชุมชนได้ และลดอาชญากรรมได้จริง ซึ่งตำรวจกว่า 90% ทั่วโลก ยอมรับและเปลี่ยนการทำงานจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ มาเป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนานแล้ว" ผบช.ก.ย้ำ

                 ทฤษฎีตำรวจแนวใหม่นี้เริ่มต้นมาแต่ปี 2539 ที่ชุมชนหลังวัดบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นโครงการของ พ.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ รอง ผกก.หน.สน.บางขุนนนท์ (ยศ ตำแหน่งขณะนั้น) หลังจากนั้นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนก็ได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเกิดเป็นโครงการทดลองขึ้นอีกหลายแห่ง

                 นี่คือเหตุผลและหลักการในการพิจารณาให้ความดีความชอบในการจัดทัพ เพื่อให้ตำรวจ บช.ก.ปรับแนวคิด วิธีปฏิบัติสู่ตำรวจสมัยใหม่ ซึ่งต้องจับตาดูว่า ผลของทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนจะประสบความสำเร็จขนาดไหน!!

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสิอพิมพ์ คม ชัด ลึก

1 ความคิดเห็น:

puybangplee กล่าวว่า...

ถ้าตำรวจท้องที่บางพลีดีแบบนี้ก็ดีซิ..เด็กในพื้นที่คงไม่เสียอนาคตถึงร้อยละ80%อย่างนี้หลอกมีทั้งยาบ้า..ทั้งฆ่าฟันกันไม่เห็นจะลดลงเลย..