จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

'ทางสองแพร่ง'ยุคใหม่ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน บช.ก.ขับเคลื่อนเสริม 5ทฤษฎี 1 หลักการ


19 พฤษภาคม 2555





 
       นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตำรวจไทยใช้แนวทางการทำงานโดยมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก โดยพยายามระดมจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้จำนวนมากๆ ให้ตำรวจตระเวนตรวจเพื่อหวังผลในการป้องกันอาชญากรรม แต่วิธีการดังกล่าวไม่สามารถลดอาชญากรรมได้ ต่อมาตำรวจเริ่มมองเห็นความจริงว่า การทำงานเพียงลำพังโดยปราศจากความร่วมมือจากประชาชน ไม่อาจทำให้งานตำรวจประสบความสำเร็จได้ ต่อมาในปี 2531 จึงได้ใช้แนวทางการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับตำรวจชุมชนสัมพันธ์ แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้อาชญากรรมลดลงได้
      ในทางตรงกันข้ามอาชญากรรมในประเทศไทยยังคงสูง อย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาประชาชนยังไม่ดี ตำรวจยังคงมีต้นทุนทางสังคมต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางการทำงานของตำรวจไทย กำลังเดินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ตำรวจกำลังเดินออกห่างจากประชาชนออกไปทุกทีๆ
      อย่างไรก็ดีตำรวจไทย ไม่ใช่เป็นตำรวจประเทศเดียวที่ประสบปัญหา “ประชาชนไม่รัก อาชญากรรมไม่ลด” แต่ตำรวจในประเทศที่ใช้แนวทางการทำงานที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็น หลัก จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับตำรวจไทย
      ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางการทำงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งค้นพบ “ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ซึ่งเป็นทฤษฎีที่พลิกโฉมหน้าวงการตำรวจโลก โดยให้ตำรวจเปลี่ยนทิศทางการทำงาน จากการเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน เป็นการหันหน้าเข้าหาประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องและให้บริการ สร้างความคุ้นเคยด้วยความจริงใจ เมื่อประชาชนไว้วางใจก็จะให้ข้อมูล ให้ข่าว บอกปัญหาและความต้องการให้ทราบ จากนั้นตำรวจกับประชาชนก็จะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ตรงตามความต้องการทฤษฎี ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน
ดังนั้นจึงเปรียบเสมือน “ทางสองแพร่ง” ที่ตำรวจในยุคปัจจุบันต้องเลือกระหว่างการทำงานแบบเดิมๆ ที่ยังคงใช้การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว หรือการนำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย
      แนวทางดังกล่าวนี้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. จึงได้นำ“ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”มาใช้กับทุกหน่วยงานของบช.ก. ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว จากโครงการทดลองหลายๆ แห่ง ที่ส่งตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ เช่น ชุมชนวัดเซิงหวาย เขตเตาปูน , ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ฯลฯ ซึ่งทุกแห่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับเสียงตอบรับและความร่วมมือจากประชาชน สามารถลดอาชญากรรมและยาเสพติดในชุมชนได้ ผลลัพธ์คือ “ประชาชนรัก อาชญากรรมลด ยาเสพติดหมดไป”
      พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ผบช.ก.พยายามเน้นย้ำให้ถ่ายทอดเนื้อหาทั้งหมด ผ่านภาพการ์ตูน “ทางสองแพร่ง” เพื่อสื่อให้เห็นระหว่างตำรวจยุคเก่ากับตำรวจยุคใหม่ มีตำรวจกำลังยืนมองตำรวจรุ่นก่อน ที่เดินล่วงหน้าไปก่อน ตำรวจที่เดินบนเส้นทางตำรวจยุคเก่า ซึ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายกับตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ต้องพบกับปัญหาอุปสรรคตลอดเส้นทางและไม่อาจไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ ส่วนตำรวจที่เดินบนเส้นทางตำรวจยุคใหม่ ซึ่งทำทั้ง “5 ทฤษฎี กับอีก 1 หลักการ” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความหวาดระแวงภัยของประชาชน สามารถเข้าเส้นชัยได้ พร้อมกับความสำเร็จ
       “การพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำให้สำเร็จได้ง่ายๆ ชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ต้องเจอการปฏิเสธ การต่อต้านมากมาย โดยเฉพาะในองค์กรตำรวจที่มีการศึกษาพบว่ามีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ถึงอย่างไรเราจะปฏิเสธความจริงไม่ได้ เราจะไม่ฟังเสียงสะท้อนจากสังคม ก้มหน้าก้มตาทำงานแบบเดิมๆ ต่อไปก็คงไม่มีใครได้ประโยชน์ ที่สำคัญไม่ดีต่อตัวตำรวจเองแน่ๆ หากเราไม่ช่วยกันเปลี่ยนกันเอง ไม่นานเราก็ต้องบังคับให้เปลี่ยนซึ่งไม่มีใครชอบทางเลือกแบบหลัง”
ผบช.ก.กล่าวชัดเจนว่า อยากให้มาตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้คร่าวๆ ประมาณ 10 ปีนับจากนี้ สำหรับการก้าวผ่านจากองค์กรตำรวจแบบเก่าไปสู่องค์กรตำรวจสมัยใหม่ ที่ใช้เทคนิค วิธีการทำงานที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เหมือนดังที่องค์กรตำรวจทั่วโลกเขาเป็นกัน เมื่อถึงเวลานั้นเชื่อว่าตำรวจไทยจะมีความภูมิใจในอาชีพ ทำงานก็มีความสุข และเราต้องก้าวไปยืนเป็นตำรวจแนวหน้าของกลุ่มอาเซียนให้ได้
       ขณะเดียวกันหน่วยงานกำลังสำคัญของ บช.ก.อย่างกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ที่มี พล.ต.ต.สุ พิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป.เป็นหัวเรือใหญ่ ได้รับมอบนโยบายโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”ของ ผบช.ก.ด้วยการนำโครงการดังกล่าวมาปรับใช้กับตำรวจในสังกัด ตั้งแต่กองกำกับการ1-6 และกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ(กก.ปพ.) หรือหน่วยคอมมานโด ให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่รับผิดชอบ ให้เกิดเป็นรูปธรรม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ซึ่งตำรวจในสังกัดได้รับนโยบายไปปฏิบัติและมีการประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อ เนื่อง
        พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป ได้นำแนวทาง “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ไปใช้ในในพื้นที่ชุมชนมุสลิม จ.สตูล เพื่อทำให้เป็นชุมชนต้นแบบในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยได้มีการไปติดตามความคืบหน้าในพื้นที่ จ.สตูล เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุพิศาล พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทินกร และตำรวจสังกัด กก.6 บก.ป ได้เชิญ นายอุกฤษฏ์ อิสมาแอล อายุ 44 ปี ครูสอนศาสนา และ นายสมัคร สะดน อายุ 55 ปี กรรมการมัสยิดเราด่อตุ้ลญันนะห์ บ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล มาเข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาทั่วไปของเด็กวัยรุ่น และปัญหายาเสพติด
นายสมัคร กล่าวว่า ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาแม้ว่าจะยังไม่สามารถกำจัดยา เสพติดในชุมชนได้100 เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ตำรวจเองก็ต้องเข้าใจถึงนโยบายที่ รับมาปฏิบัติด้วย ถึงจะนำไปเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ในอนาคต
      ด้านพ.ต.อ.ทินกร ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาก็ได้ลงพื้นที่ไปแล้วราว 1 ปี ในพื้นที่มีชาวบ้านอยู่ 103 ครัวเรือน มีประชาชนประมาณ 530 คน ช่วงแรกๆ จนถึงวันนี้นับได้ว่าชุมชนได้พัฒนาขึ้นไปมากจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อม และร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันโดยไม่ได้เน้นที่ผลการจับกุมเป็นหลัก แต่ก่อให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจด้วยการกินนอนอยู่ด้วยกัน ผลที่ได้รับกลับมาถือว่ามีความน่าพอใจ เพราะทุกวันนี้ทั้งชาวบ้าน และครูสอนศาสนา รวมทั้งตำรวจที่เข้าไปทำกิจกรรมเริ่มเป็นหนึ่งเดียวกัน หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็อาจจะนำไปเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของวงการสีกากี จุดเปลี่ยนเพื่อขับเคลื่อนตำรวจไทยได้เกิดขึ้นแล้ว แนวทางมีแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติมีแล้ว ผู้ที่รับปฏิบัติก็มีแล้ว ผลสำเร็จที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงระหว่างประชาชนกับตำรวจที่สุขเพิ่มขึ้นจะ มีหรือไม่นั้นก็คงต้องรอดูต่อไป แอบหวังแต่เพียงว่าผลที่ตามมาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ อาจไม่ใช่เพียงแค่ตำรวจกับประชาชนเท่านั้น แต่ควรเป็นสังคมโดยรวมด้วย.

รัชพล ยี่สุ่น รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น: