จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทำความรู้จัก‘ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน’ ยุทธศาสตร์ใหม่ป้องปรามอาชญากรรม

 http://www.naewna.com/uploads/news/source/7262.jpg

ขึ้นชื่อว่าอาชีพตำรวจ หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกกลัวไม่ว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ขนาดพ่อแม่จำนวนมากยังเปลี่ยนคำขู่เด็กดื้อ จาก “ผีจะมาหลอก” เป็น “ตำรวจจะมาจับ” เด็กที่ดื้องอแงนั้นถึงกับเงียบในทันที
ทั้งนี้เพราะภาพลักษณ์ของตำรวจที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปคือความดุดัน แข็งกร้าวเนื่องจากพวกเขาถูกฝึกมาให้เข้มแข็ง เพื่อรับมือกับความกดดันต่างๆ ในยามที่จะต้องออกปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ ไม่เพียงผู้ร้ายจะหวั่นเกรงเท่านั้น แม้แต่ประชาชน พลเมืองดีทั่วไปก็ยังพลอยกลัวตำรวจไปด้วย ทำให้หลายคนที่มีเบาะแสอาชญากรรม สิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่อยากจะแจ้งแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี จนเป็นที่มาของ โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ที่กำลังจะถูกนำมาใช้แทนโครงการตำรวจชุมชนสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม
โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมา สำนักงานปราบปรามยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สหประชาชาติ (UNODC) ได้เชิญ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ในฐานะผู้นำแนวคิดตำรวจผู้รับใช้ ชุมชนมาช่วยลดปัญหาอาชญา กรรมในประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและสตรี โดยใช้ “แนวคิดตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลง การบริหารงานตำรวจจากเดิม เป็นการบริหารงานตำรวจยุคใหม่ ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ที่ผ่านมา ตำรวจไทยเน้นการทำงานตามทฤษฎีบังคับใช้กฎหมายมาเป็นเวลานาน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้ ถ้าเรามุ่งที่จะจับกุมอย่างเดียว มุมมองของตำรวจต่อประชาชนจะเป็นไปในลักษณะผู้ที่คอยจับผิด ประชาชนจะมองตำรวจด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้ใจ เพราะเจอตำรวจแล้วอาจถูกจับ ขณะเดียวกันตำรวจก็จะถูกกดดันจากนโยบายที่วัดผลงานจากสถิติการจับกุม ทำให้ต้องหาทางจับกุมให้ได้มากๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับประชาชน ตลอดจนการจับผิดตัว”
เป็นเสียงสะท้อนจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ผบช.ก. บอกเล่าถึงนโยบายเดิมที่นอกจากจะไม่ช่วยให้อาชญากรรมลดลงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับประชาชนยังเลวร้ายลงอีกด้วย ทั้งที่องค์กรตำรวจของไทย ก่อตั้งมานาน แต่จากสถิติอาชญากรรมแล้วยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์สูงมากเมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศในโลก ที่แย่ไปกว่านั้น เมื่อตำรวจเน้นยุทธศาสตร์การจับกุมเพียงอย่างเดียว ผลคือ หลายๆ ครั้งกลายเป็นการจับผิดตัว ผู้กระทำผิดยังลอยนวลขณะที่ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นแพะรับบาป ทั้งนี้เพราะผลงานของตำรวจถูกชี้วัดในด้านยอดการจับกุมผู้กระทำผิดมากกว่า ภาพรวมของจำนวนอาชญากรรมที่ลดลง
เมื่อเราถามต่อไปอีกว่าตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ต่างจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ที่เป็นโครงการเดิมอย่างไร พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์อธิบายว่าตำรวจชุมชนสัมพันธ์เป็นโครงการในลักษณะจากบนลง ล่าง (Top-Down) กล่าวคือ ฝ่ายตำรวจจะเป็นผู้วางนโยบายและใช้นโยบายนั้นกับประชาชนในพื้นที่ แต่โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนั้น นโยบายต่างๆ จะมาจากการระดมความคิดเห็น มีการประชุมรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ แล้วจึงนำมาสรุปเป็นนโยบาย ซึ่งเป็นลักษณะจากล่างขึ้นบน (Bottom-Up) ซึ่งผลที่ได้คือประชาชนในพื้นที่จะรู้สึกเป็นมิตรกับตำรวจมากขึ้น
“ที่ผ่านมาเราคิดว่างานตำรวจคืองานจับกุม การจับกุมมากๆ เป็นเรื่องดีจับกุมมากสังคมจะสงบสุข โดยใช้วิธีการทำงานแบบตระเวนตรวจอย่างไม่มีข้อมูล แล้วหวังว่าจะช่วยป้องกันเหตุการสืบสวนหลังเกิดเหตุเพื่อไล่ติดตามจับกุมคน ร้าย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอาชญากรรมให้ได้… แต่จริงๆ แล้ว วิธีคิดและวิธีการที่ทำกันมา ไม่เคยลดอาชญากรรมได้ ไม่เคยมีประเทศไหนในโลกสามารถลดอาชญากรรมได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้”
สำหรับโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนี้มีที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักๆ ประกอบ ด้วย 5 ทฤษฎี 1 หลักการดังนี้ ในส่วนของ 5 ทฤษฎี คือ 1.ทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย (Law Enfor cement) โดยการทำหน้าที่จับผู้ร้าย 2.ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ (Police Community Relations) โดยทำหน้าที่เป็นเพื่อนของชุมชน 3.ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (CommunityPolicing) โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการ 4.ทฤษฎีป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม (C.P.T.E.D.) โดยทำหน้าที่เป็นนักวางแผนป้องกัน 5.ทฤษฎีหน้าต่างแตก (Broken Windows Theory) โดยทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อย
และ 1 หลักการ คือ หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาที่พลิกผันไปตามแนวทางของชุมชน (C.O.P.P.S) โดยทำหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์และแก้ปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ตำรวจไม่ใช่หน่วยงาน ที่คอยแต่จะมุ่งหน้าจับกุมอย่างเดียว แต่จะเปลี่ยนโฉมหน้าองค์กรตำรวจจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เป็นหน่วยงานผู้ให้บริการ (Protect and Serve) ซึ่งเป็นงานที่แท้จริงของตำรวจ
“การทำงานในอดีตส่วนใหญ่ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำแต่เพียงอย่างเดียว จากนั้นจะใช้วิธีการจับผิด และลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม ขณะที่แนวทางการบริหารยุคใหม่ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีทักษะในการทำงานจริงๆ รวมถึงต้องมีเทคนิค มีจิตวิทยาในการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมมือกันทำงานให้บรรลุเป้าหมายโดยไม่ ต้องใช้การบังคับ เพราะความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถบังคับตำรวจให้ทำงานได้ ถ้าถูกบังคับ เขาก็จะทำเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น ผู้บริหารยุคใหม่ต้องยอมรับในเรื่องนี้”
ซึ่งหากเทียบเคียงกับงานตำรวจชุมชนสัมพันธ์และตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเป็นงานคล้ายกัน แต่ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียดแล้ว จะพบว่าตำรวจชุมชนสัมพันธ์นั้นเป็นทฤษฎี ตรงข้ามกับตำรวจผู้รับใช้ชุมชน โดยตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เป็นการดำเนินงานในลักษณะบนลงล่าง ตำรวจเป็นฝ่ายกำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด ประชาชนเป็นฝ่ายให้ความร่วมมือในกิจกรรมของตำรวจ โดยไม่ได้นำเอาข้อมูลฝ่ายประชาชน มากำหนดกิจกรรมที่จะทำ ดังนั้นสิ่งที่ตำรวจทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการก็ได้ สุดท้ายตำรวจชุมชนสัมพันธ์จึงใช้ไม่ได้ผล ไม่สามารถลดอาชญากรรมได้ ประชาชนยังคงไม่ชอบตำรวจ
ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ในโลกเลิกใช้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ไปแล้ว สำหรับตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเป็นการดำเนินงานในแบบล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่ความร่วมมือทำกิจกรรม โดยประชาชนเป็นผู้บอกปัญหาและให้ความร่วมมือในการวางแผนดำเนินกิจกรรม ดังนั้นกิจกรรมจึงสนองตอบความต้องการของประชาชน ผลลัพธ์ที่ได้จึงสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ และสามารถลดอาชญากรรมได้จริง
ซึ่งตำรวจกว่า 90% ทั่วโลก ยอมรับและเปลี่ยนจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ มาเป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนกันมานานแล้ว แม้แต่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดและป้องกันอาชญากรรมประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ในการป้องกันและแก้ไขอาชญากรรมและยาเสพติด (UNODC) ก็ยังให้การยอมรับ เช่นในประเทศยูกันดานำไปใช้แก้ปัญหาการละเมิดทางเพศเด็ก ประเทศเคนยานำไปใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อเอดส์ เป็นต้น
“ทุกวันนี้ตำรวจกับประชาชน มีโอกาสเจอกันตอนที่เกิดเรื่องหรือประชาชนทำความผิด ทำให้ตำรวจและประชาชนห่างกันออกไปเรื่อยๆ ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึงเป็นเรื่องที่ตำรวจต้องรีบแก้ไข เพราะทำไปแล้วประชาชนก็ไม่รัก อาชญากรรมก็ไม่ลด แก้ปัญหาก็ไม่ได้ ดังนั้นพวกเราต้องพยายามข้ามความเป็นองค์กรตำรวจชุมชนสัมพันธ์ให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะฝังรากลึกอยู่ในองค์กรตำรวจไทยมานานมาก แต่ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงไร พวกเราก็ต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวผ่านไปด้วยกันให้ได้ ให้ถูกต้องเสียที” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่นี้ จะเห็นได้ว่าวงการตำรวจไทยยังต้องปรับปรุงอีกมาก เพื่อเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิมๆ ไปสู่รูปแบบใหม่ที่เป็นสากล ซึ่งจะสำเร็จผล ลดการก่ออาชญากรรม ได้จริงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการปรับทัศนคติใหม่ของบุคลากรในวงการตำรวจทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: