จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปิดชุมชนตัวอย่างชัด โครงการ "พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์" 1ปีคดีลด-ชาวบ้านอุ่นใจ

Thairath
วัน อาทิตย์ 8 กรกฎาคม 2555

Pic_274165
แนวคิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์  ผบช.ก. ที่พยายามปลูกฝังผู้ใต้บังคับ บัญชาให้ทำหน้าที่ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ และงานวินัยของตำรวจต่างประเทศ ที่นำมาใช้จนประสบความสำเร็จในการควบคุมคดีอาชญากรรม ลดความหวาดกลัวของชุมชน จึงนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวทางการทำงานใหม่ให้กับข้า ราชการตำรวจทั่วประเทศคาดหวังจะทำให้ตำรวจเปลี่ยนทัศนคติทิศทางการทำงาน

จาก การเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน เป็นการหันหน้าเข้าหาประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องและให้บริการ สร้างความคุ้นเคย ให้ความจริงใจ จนได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เปลี่ยนจากเป้าหมายจับกุมให้ได้มากๆ มาเป็นการมุ่งลดความหวาดระแวงภัยให้กับประชาชน

วิธีการง่ายๆ คือ การส่งตำรวจเข้าไปอยู่ในชุมชน สร้างความคุ้นเคย ให้ความจริงใจ จนกว่าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ทำให้ตำรวจได้สัมผัสและรับรู้ปัญหาร่วมกับพี่น้องประชาชนในชุมชน

จน ทราบถึงปัญหาเร่งด่วนที่คนในชุมชนอยากให้ตำรวจทำให้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับชุมชน แก้ไขปัญหาตามสภาพความเป็นจริงแต่ละพื้นที่ พลิกผันเปลี่ยนแปลงตามแนวทางของชุมชน

โครงการนำร่องนำโดย พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป.เล็งเห็นถึงนโยบาย จนมาสู่การปฏิบัติในสนามจริง จัดทำโครงการในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาย อ.เมือง จ.สตูล ตั้งแต่ปี 2554

มอบ หมายให้ ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล ผบ.หมู่ กก.6 บก.ป.หรือ “บังยาซีน” ซึ่งเป็นคนในชุมชนบ้านหัวทาง เป็นตัวหลักในการประสานงานกับชุมชน อาศัยช่วงพักจากภารกิจประจำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับมาพักในชุมชนบ้านหัวทาง

จึงสังเกตพบว่าปัญหา ของชุมชนเหมือนกับที่อื่นๆทั่วไป คือ ปัญหายาเสพติดในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหารถซิ่งเด็กแว้น การลักเล็กขโมยน้อย และการมั่วสุมของนักเรียนวัยรุ่นต่างพื้นที่

ด.ต.สุทธินันท์ หรือ บังยาซีน ได้จัดทำข้อมูลและเก็บรวบรวมสภาพปัญหาต่างๆ จากชาวบ้านและโต๊ะอิหม่าม ที่ทนไม่ไหวกับปัญหาในชุมชน จึงนัดประชุมร่วมกันเพื่อหามาตรการป้องกันชุมชน ชาวบ้านอยากให้ตั้งอาสาสมัครดูแลชุมชน จน ด.ต.สุทธินันท์ ได้เปิดตัวกับชาวชุมชนว่า เป็นตำรวจกองปราบปราม ขอจัดตั้งอาสาสมัครดูแลหมู่บ้าน โดยที่ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าเป็นตำรวจ เห็นแต่เพียงเป็นลูกหลานในหมู่บ้านและอยู่มานาน จึงเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ตั้งอาสาสมัครดูแลหมู่บ้านกับคนในชุมชน

พ.ต.อ.ทินกร เห็นว่าเป็นความต้องการของชาวบ้าน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางตำรวจชุมชนของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ จึงได้เสนอเข้าทำโครงการแสดงจุดยืนกับชาวบ้าน พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของ ด.ต.สุทธินันท์ ในทุกๆ เรื่องที่เป็นปัญหาของชาวบ้าน ขอให้ไว้วางใจร่วมคิด และร่วมทำด้วยกัน

เมื่อ ได้ร่วมกันวิเคราะห์แก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องต่อเนื่องตลอดเวลา 1 ปี ทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลงอย่างชัดเจนชาวบ้านมีความอบอุ่นใจ มีความมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาลักเล็กขโมยน้อยหายไป

นอก จากความชื่นชมของชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “บังยาซีน” หรือ ด.ต.สุทธิ-นันท์ ตำรวจระดับเล็กๆที่มีความภูมิใจในอาชีพตำรวจ ได้ทำงานรับใช้พี่น้องชาวบ้าน “ปิดทองหลังพระ” ให้กับสังคมตำรวจโดยรวม

ได้รับการร้องขอจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนบ้านหัวทางมาโดยตลอดให้เข้าทำโครงการในชุมชนบ้าง

หาก ตำรวจทุกหน่วยนำโครงการนี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจังทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหารากหญ้าของสังคม ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตำรวจไทย ลดช่องว่าง ความหวาดระแวง ระหว่างตำรวจกับประชาชน

สมกับสโลแกนของ กก.6 บก.ป. ที่ว่า “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” เราจะเป็นหุ้นส่วนของกันและกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน ช่วยกันทำให้ชุมชนมีความผาสุกอย่างแท้จริง

“ก่อน หน้าเราเดือดร้อนกับเรื่องรถแข่ง เพราะส่งเสียงดังจนชาวบ้านนอนไม่หลับ ไหนจะเรื่องปัญหายาเสพติดและลักเล็กขโมยน้อยก็มากขึ้น เมื่อตำรวจกองปราบฯ มาลงพื้นที่ เขามาไม่เหมือนตำรวจหน่วยอื่น คือ เข้ามาสนิทใกล้ชิดเหมือนญาติพี่น้อง ถามว่าชุมชนต้องการอะไร ทำให้พวกเรากล้าพูด กล้าแสดงออก ไม่มีความหวาดระแวงว่าเขามาทำอะไรให้เราไม่สบายใจ นอกจากนี้ในเรื่องความสามัคคีระหว่างพี่น้องต่างศาสนาก็ไม่มีปัญหา เพราะชุมชนเรามีพี่น้องไทยพุทธอยู่ 1 ครัวเรือน แต่ก็อยู่กันได้ฉันท์พี่น้อง จนแยกกันไม่ออก มีงานที่มัสยิด เพื่อนบ้านที่เป็นไทยพุทธเขายังมาช่วยตลอด ซึ่งหากชุมชนใดมีปัญหาดังกล่าว ทางเรายินดีที่จะให้ท่านมาศึกษาดูงานที่ชุมชนหัวทางได้”

นาย วัชรินทร์ อุบอิบ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดเราดอตุ้ลญันนะห์ ในชุมชนบ้านหัวทาง กล่าวอย่างภาคภูมิใจ เช่นเดียวกับ นายวีระวัฒน์ เก็บมา-เก็น หนึ่งในอาสาสมัครย้ำว่า อาสาสมัครมีประมาณ 30 คน ผลัดเวรกันผลัดละ 10 คน ก่อนหน้านี้มีวัยรุ่นในหมู่บ้านกินน้ำกระท่อม สูบกัญชา หลังโครงการนี้ตั้งขึ้นมาพบว่า สามารถช่วยให้ชุมชนปลอดภัยจากยาเสพติด ลักขโมย และแก๊งรถแข่งได้ เดี๋ยวนี้ รถจักรยานยนต์จอดเสียบกุญแจลืมไว้หน้าบ้านหรือบนฟุตปาทในเวลากลางคืน ก็ไม่หายแล้ว จากที่เมื่อก่อนหายกันบ่อยมาก

ความ มั่นใจของคนในชุมชนหลังได้รับการปฏิบัติการตามทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ที่ได้พยายามผลักดันให้ตำรวจทุกหน่วยหันมาให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือ ของชุมชน ซึ่งตำรวจจะต้องแสดงให้เห็นว่าพร้อมเป็นผู้รับใช้ชุมชน ในทุกเรื่องไม่ใช่แค่การจับกุมดำเนินคดีตลอด 1 ปี ที่เริ่มโครงการ ตำรวจมีแนวร่วมมากขึ้น จนมีเสียงตอบรับของคนในชุมชนว่า

“ตำรวจจะจับ พวกตนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่สักวันพวกตนก็จะกลับมาอีก แต่เมื่อตำรวจมาอย่างนุ่มนวลพร้อมรับฟังและร่วมกันแก้ปัญหา พวกเราก็พร้อมจะเป็นพวก ขอเพียงอย่าทิ้งพวกเราไป ขอให้อยู่เคียงข้างกับพวกเราตลอดไป”

“ชุมชนบ้านหัวทาง” จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลของการแก้ปัญหาสังคม ลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับประชาชน

ดั่งคำขวัญที่ว่า “เป็นตำรวจอาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน”.

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก

ทีมข่าวอาชญากรรม
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: