จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรียนรู้ทฤษฎี "ต้นไม้อาชญากรรม" ศาสตร์ "ตร.สมัยใหม่" สู้ภัยโลกาภิวัตน์




 5 กรกฎาคม 2555

   หลายภาคส่วนในสังคมไทยกำลังวิตกกังวลกับภัยอาชญากรรมที่ร้ายแรงมากขึ้นทุกขณะ แต่สิ่งที่น่าวิตกยิ่งกว่าคือการไล่แก้ปัญหาแบบ "วิ่งไล่ตามปัญหา" และมุ่งแก้เฉพาะปลายเหตุ เช่น ยาเสพติดระบาดก็ไปไล่จับคนขนยา หรือพอถึงหน้าเทศกาลฟุตบอลยูโร ก็ไล่จับโต๊ะพนันบอล
       วิธีการลักษณะนี้นอกจากจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้แล้ว ยังทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย เพราะอาชญากรรมวันนี้ไม่ได้แยกส่วนกันอีกต่อไป และอาชญากรก็ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่ทั้งอาชญากรรมและอาชญากรต่างเชื่อมโยงประสานกันในมิติต่างๆ กลายเป็น "ต้นไม้อาชญากรรม" ที่กำลังเติบใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วประเทศไทย เรียกว่าแตะตรงไหนก็เจอ และไม่แปลกที่บ้านเรามีข่าวร้ายไม่เว้นแต่ละวัน



        อาชญากรรมในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นยุคโลกาภิวัตน์ มีเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ได้พัฒนาขึ้นเป็น "องค์กรอาชญากรรม" หรือ Organized Crime  หรือ Criminal Organization ในทางทฤษฎีหมายถึงกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปที่รวมตัว ประสาน หรือดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ในระยะเวลาหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อหรือกระทำความผิดร้ายแรงฐานใดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

       จะเห็นได้ว่า "องค์กรอาชญากรรม" อาจเป็นองค์กรที่พบปะและดำเนินงานร่วมกันเพียงชั่วคราว เป็นกิจกรรมเฉพาะกิจ ไม่จำเป็นต้องตั้งกลุ่มเหนียวแน่นเป็น "อั้งยี่" หรือ "ซ่องโจร" อีกต่อไป

        องค์กรอาชญากรรมมีโครงสร้างการดำเนินงานที่สลับซับซ้อน กิจกรรมที่สำคัญขององค์กรอาชญากรรม คือ การสนองความต้องการสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย เช่น การพนัน การค้าประเวณี ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และมักขยายตัวเข้าไปเกี่ยวข้องควบคุมธุรกิจที่ถูกกฎหมาย โดยเข้าไปแทรกแซงการดำเนินธุรกิจเหล่านั้นด้วยการผูกขาด เลี่ยงภาษี ข่มขู่ ทวงหนี้ ก่อการร้าย หรือปั่นหุ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้จำนวนมหาศาล

        หากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรอาชญากรรมก็จะจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่บางรายเพื่อหลบเลี่ยงกฎหมาย หรือจ้างวานฆ่าบุคคลที่องค์กรอาชญากรรมไม่พึงประสงค์ รวมไปถึงการนำเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปลงทุนในธุรกิจที่ถูกกฎหมาย เพื่อฟอกเงินให้เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วนำกลับมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรอาชญากรรมต่อไปด้วย

         หากมองในมิติสังคมที่มีปัญหาหลากหลาย จะพบว่าทั้งปัญหาความยากจน การทุจริตคอร์รัปชัน ปัญหาด้านการศึกษา ความไม่เท่าเทียมกัน หรือปัญหาทางสังคมอื่นๆ แม้แต่เรื่องทางพันธุกรรม เหล่านี้ล้วนเป็น "ราก" ของอาชญากรรมที่มีลำต้นเปรียบเสมือน "ต้นไม้" รากเหล่านี้ล้วนมีส่วนหล่อเลี้ยงให้เกิดอาชญากรรม และทำให้อาชญากรรมประเภทต่างๆ แผ่กิ่งก้านสาขา ยิ่งมีการใช้ "โลกาภิวัตน์" ให้เป็นประโยชน์ ยิ่งทำให้ "ต้นไม้อาชญากรรม" เติบใหญ่ขึ้น และเชื่อมโยงประสานกันเป็นโครงข่ายมากยิ่งขึ้นไปอีก

        ตัวอย่างเช่น การเฟื่องฟูของโต๊ะพนันฟุตบอล ทำให้มีเงินจำนวนมหาศาลสะพัดในวงการพนัน ก็จะเริ่มใช้บริการองค์กรอาชญากรรมอื่นเข้ามาช่วยในบางกิจกรรม อาทิ กลุ่มโพยก๊วนเพื่อหิ้วเงินออกนอกประเทศ หรือเมื่อเริ่มมีการเบี้ยวหนี้พนัน ก็ต้องใช้แก๊งทวงหนี้หรือซุ้มมือปืนเข้ามาจัดการ เงินก็จะไหลเข้าไปสู่องค์กรอาชญากรรมเหล่านั้น นำเงินไปซื้ออาวุธเพิ่ม ก็จะเชื่อมประสานไปยังกลุ่มค้าอาวุธ

        เมื่อคนในองค์กรอาชญากรรมมีเงินมากขึ้น ก็จะนำเงินไปใช้ในบ่อนการพนัน สถานบริการ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นก็เป็นแหล่งแพร่กระจายยาเสพติดอีก

        นี่คือความน่ากลัวของ "ต้นไม้อาชญากรรม" ซึ่งการทำงานด้วยทฤษฎี "ตำรวจสมัยเก่า" ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกแล้ว

        มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การทำงานของเครือข่ายค้ายาเสพติดสมัยนี้ มีการ "คัดเอาท์" หรือ "ตัดตอน" ไม่ให้สาวถึงกลุ่มผู้ค้าตัวจริงถึง 4-5 ขั้นตอน 
มี การว่าจ้างคนส่งของที่มีหน้าที่แค่นำของมาทิ้งไว้ตรงจุดนัดพบเท่านั้น จากนั้นจะมีอีกทีมหนึ่งมีหน้าที่แค่มาดูว่าของมาถึงแล้วจริงๆ ส่วนทีมที่จะมารับของไปกับคนที่จะนำเงินไปจ่ายเป็นอีกทีมหนึ่ง ซึ่งแต่ละทีมเป็นอิสระแก่กัน ไม่รู้จักกัน
        หากทีมไหนพลาดถูกจับกุม ก็จะไม่สามารถสาวไปถึงทีมอื่นๆ ได้เลย ฉะนั้นอย่าไปคิดถึงขั้นจับตัวผู้บงการหรือนายทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง เพราะความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์!

        ทั้งหมดนี้คือความจำเป็นของการปรับยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ได้บรรจุแนวทาง "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" หรือ Community Policing เข้าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรและบุคลากร โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กูรูว่าด้วยทฤษฎี "ตำรวจสมัยใหม่" เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน

         ที่ผ่านมา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ได้นำแนวคิด "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" ไปประยุกต์ใช้กับงานตำรวจในสังกัดอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมีรูปธรรมเกิดขึ้นแล้วที่ชุมชนคุณหญิง วัดส้มจีน ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในชื่อโครงการ “คืนชุมชนสีขาวให้สังคม” ของกองบังคับการตำรวจทางหลวง ซึ่งสามารถลดสถิติอาชญากรรม และลดความหวาดระแวงของประชาชนที่มีต่อตำรวจได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

         ไม่เพียงแปลงแนวคิดไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น แต่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ยังถ่ายทอด “ศาสตร์ตำรวจสมัยใหม่” ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การทำงานตามแนวคิดดังกล่าวเพื่อสื่อสารทำความ เข้าใจกับสังคมด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้เชิญ ศ.ดร.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตำรวจศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคนนิซอว์ สเตท มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เดินทางข้ามทวีปมาบรรยายพิเศษให้ตำรวจสอบสวนกลาง ในหัวข้อ “Police Leader and Police Innovation” หรือ “ผู้นำตำรวจกับความคิดตำรวจสมัยใหม่” ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี


         ศ.ดร.สุธรรม กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สิ่งที่วงการตำรวจไทยดำเนินการมาถือว่าดีแล้ว เช่น โครงการตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดีกับประชาชน ก่อให้เกิดการร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหา แต่ยังขาดการต่อยอดและปรับปรุงโดยนำแนวคิดการทำงานตำรวจสมัยใหม่มาใช้

         "องค์ความรู้ด้านตำรวจของสหรัฐนั้น ได้เก็บข้อมูลและสรุปเป็นทฤษฎีมาเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมาว่า การออกตรวจโดยไม่มีเป้าหมาย การจับกุมอย่างเดียว หรือการทำงานเชิงรับอย่างเดียวโดยไม่มีเชิงรุกนั้น ไม่เป็นผลดีต่องานตำรวจและสังคม จึงก่อให้เกิดแนวคิดตำรวจสมัยใหม่ขึ้นมา"

         สำหรับแนวคิดหรือหลักการของ "ตำรวจสมัยใหม่" มีอยู่ 4 ประการ ซึ่ง ศ.ดร.สุธรรม เห็นว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับตำรวจไทยได้ ได้แก่ 1.ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน 2.หลักการทำงานที่มุ่งเน้นเฉพาะปัญหา 3.ทฤษฎีหน้าต่างแตก และ 4.งานตำรวจที่มุ่งเน้นจุดล่อแหลมของอาชญากรรม


        เมื่อถามถึงปัญหาภาพลักษณ์ตำรวจไทยที่ยังคงถูกวิจารณ์อยู่เสมอ จะเป็นการยากในการพัฒนาสู่ความเป็น "ตำรวจสมัยใหม่" หรือไม่ ศ.ดร.สุธรรม ย้อนถามว่า เหตุใดตำรวจไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือสิงคโปร์เพื่อนบ้านของเราซึ่งใช้ระบบบริหารงานตำรวจแบบรวมศูนย์เช่น เดียวกัไทย กลับมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า

        "ผมคิดว่าเราต้องแก้ที่วัฒนธรรมดั้งเดิม ความคิดแบบเดิมๆ หรือเรื่องผลประโยชน์ ถ้ายังยึดติดอยู่ก็คงเปลี่ยนแปลงลำบาก แต่อย่างน้อยผู้นำตำรวจต้องเริ่มเป็นก้าวแรก และต้องทำไปเรื่อยๆ"

        แต่กระนั้น ถึงแม้จะมีความพยายามในการใช้แนวคิดทฤษฎี "ตำรวจสมัยใหม่" อย่างกว้างขวางทั่วโล แต่ ศ.ดร.สุธรรม ก็เห็นว่า ถึงที่สุดแล้วสิ่งสำคัญที่สุดย่อมอยู่ที่การพัฒนาบุคลากรเป็นอันดับแรก

       “เจมส์ คิว วิลสัน นักการตำรวจคนสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขียนหนังสือเกี่ยวกับการปรับระบบงานตำรวจมากมาย แต่หนังสือเล่มสุดท้ายเขากลับเขียนถึงเรื่องจิตสำนึก เช่น ความเห็นอกเห็นใจ จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ และให้ลืมเรื่องการวิจัยหรือทฤษฎีต่างๆ เสีย แต่ให้เอาเรื่องพื้นฐานของคนให้ได้ก่อน"

       "บท เรียนนี้จึงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ตำรวจเริ่มจากการพัฒนาตัวเอง มีจิตสำนึกรู้หน้าที่ โดยที่ผู้บังคับบัญชาช่วยเหลือลูกน้องให้มีความสุขตามอัตภาพ และทำอย่างไรให้ตำรวจมีความเป็นวิชาชีพอย่างแท้จริง"

..........ll..........

ไม่มีความคิดเห็น: