จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

"โต๊ะคอเต็บ"เปิดใจ ผบช.ก. ทางสว่างดับไฟใต้ ยึดมั่นคำสอนศาสนา

"โต๊ะคอเต็บ"เปิดใจ ผบช.ก. ทางสว่างดับไฟใต้ ยึดมั่นคำสอนศาสนา

จากสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานาน สะท้อนให้เห็นยุทธศาสตร์ในการดับไฟใต้ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

ลำพัง นโยบายของรัฐบาลที่ใช้การบังคับใช้กฎหมาย หรือใช้กำลังปราบปรามอย่างเดิมไม่ได้ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องเริ่มจากหันหน้าเข้ามาหาประชาชน ให้ประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วมเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

เพราะโจรใต้ อาศัยหลักการสอนแบบผิดๆ เมื่อชาวบ้านเชื่อและศรัทธาจึงกล้าทำผิด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่

ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่ของรัฐ หวาดระแวงคนในชุมชนเดียวกัน

เจ้า หน้าที่ต้องหันมาใช้หลักการเดียวกัน กับกลุ่มก่อความไม่สงบ ใช้หลักคิดทางศาสนาเข้าไปแก้ไขคล่ีคลายสถานการณ์ ต้องสร้างและปฏิบัติตนให้ชาวบ้านรักและเชื่อมั่นก่อน ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความจริงใจมาช่วยเหลือจริงๆ ไม่ได้มาสร้างภาพ จนชาวบ้านเชื่อและศรัทธาแล้วจึงพาเขาทำตามที่เราอยากให้เป็น และกระตุ้นให้ชาวบ้านช่วยคิด ช่วยทำ และทำกันอย่างต่อเนื่อง จนสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน โดยอาศัยความร่วมมือผู้นำศาสนา ชุมชนและประชาชน

ทุกอย่างเป็นไปตามแนวคิดทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ที่ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งเป็นคนในพื้นที่เข้าไปทำให้ลดความหวาดระแวงของพี่ น้องประชาชน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่รัฐ

จากการจัดชุด ยุทธศาสตร์ของกองปราบปรามที่มี พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. ด.ต.สุทธินันท์ อนันธขาล ด.ต.จิต จิเบ็ญจะ ผบ.หมู่ กก.6 บก.ป. เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชุมชนหัวทาง อ.เมือง จ.สตูล นานกว่า 1 ปี ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพี่น้องคนไทยมุสลิมในไทย และพี่น้องในประเทศมาเลเซีย

มีการเปลี่ยนแนวคิดเดิมๆ ที่ชาวบ้านเกลียดชัง ไม่ยอมรับ ตัดขาดเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ชุดกองปราบปรามได้ทำให้เขายอมรับ คิดว่าตำรวจกองปราบฯ เป็นพวก เป็นเพื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าทำได้จะชนะใจทั้งเราเองและชนะใจเขา โดยใช้คำว่า “ให้ต่อกับคนที่ตัด” ใช้ความจริงใจ ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากพี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่ จากความรู้สึกที่เกลียดชังกลายเป็นความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ ชุมชน มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อพัฒนาชุมชนให้ลดความหวาดระแวง คดีอาชญากรรม ยาเสพติด สร้างเสริมอาชีพให้กับชาวบ้าน

จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สตูลโมเดล”

เป็นอีกทางเลือกของรัฐบาลสำคัญในการแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะ ที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ได้เดินหน้านโยบายอย่างเต็มที่ แม้จะเป็นเพียงหน่วยเดียว เพื่อทำให้เห็นผลของแนวคิดที่ประสบความสำเร็จใช้กันแพร่หลายทั่วโลกได้เกิด ขึ้นในไทย ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทาง อ.เมือง จ.สตูล เพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนในชุมชน พร้อมรับฟังปัญหาในพื้นที่ เยี่ยมชมการดำเนินการของชุมชน

ได้เห็นความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับ ตำรวจอย่างแท้จริง ทั้งการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันอาชญากรรม โดยปรับแต่งพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น จุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมให้เป็นที่ปลอดภัย

ความร่วมมือของ ประชาชนในการจัดเวรยามตรวจตราชุมชนไม่ให้คนร้ายหรือพวกค้ายาเสพติดเข้ามาใน ชุมชน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆที่ตำรวจ ประชาชนร่วมแก้ปัญหาให้กับชุมชนและพัฒนาอาชีพที่เป็นรายได้ของชุมชน

เป็นภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตำรวจกับพี่น้องคนไทยมุสลิมในพื้นที่

“สตูลโมเดล” ซึ่งถือว่า...เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเพื่อนำสิ่งที่ดีมาสู่สังคมไทยเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นทั่วประเทศ

นาย การีม เก็บกาเม็น โต๊ะคอเต็บหรืออาจารย์สอนศาสนาของมัสยิดบ้านหัวทาง และเจ้าหน้าที่ของ UNICEF กล่าวว่า ในพระคัมภีร์ฯ ได้สอนไว้ว่า “เมื่อเข้าไปในบ้านของเขา เจ้าจงปฏิบัติงานให้เขารัก เพื่อให้เขาเชื่อมั่นและศรัทธาเราก่อน...” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้หลักการผิดๆ ทำให้แนวร่วมเชื่อมั่นและศรัทธา จึงกล้ากระทำความผิด

“เราจึงควรใช้ หลักการของตำรวจผู้รับใช้ชุมชน สร้างความไว้วางใจและลดความหวาดระแวงต่อกันก่อน ซึ่งเมื่อ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ส่งตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเข้ามาในชุมชน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธากับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านลดความหวาดระแวงในตัวตำรวจ ถือว่าตรงกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และสามารถนำไปใช้กับพี่น้องชาวไทยมุสลิมทุกแห่ง”

อาจารย์การีมกล่าว ต่อว่า “โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความหวาดระแวงไม่ไว้วาง ใจกัน หากทางการไทยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน จึงต้องเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดขึ้นก่อน เมื่อต่างฝ่ายต่างลดความหวาดระแวงลงแล้ว จึงพาเขาทำตามที่เราอยากให้เป็น และกระตุ้นให้เขาช่วยกันคิด ช่วยกันทำอย่างต่อเนื่อง จนสร้างความเข้มแข็ง ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน จากนั้นความสามัคคีและความสงบสุขก็จะตามมาเอง จึงอยากจะฝากไปถึงผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ควรเริ่มต้นด้วยแนวทางนี้ เพราะจะเป็นหนทางสู่ความสงบสุขอย่างยั่งยืน”

นายซอลีฮีน อิสมาแอล ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่นของ จ.สตูล กล่าวเสริมว่า การที่จะเข้าถึงประชาชนที่เขารู้สึกไม่ชอบ ก็ต้องใช้หลักคำสอนของศาสนาที่ว่า “ให้ต่อกับคนที่ตัด” ดังนั้น ให้พยายามเชื่อมต่อ พูดคุย สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธากับเขา เพื่อลดความหวาดระแวงต่อกัน พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ เป็นผู้ที่นำตำรวจที่เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของพี่น้องไทยมุสลิมอย่างแท้จริง เป็นการแสดงความจริงใจซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาชาวบ้านรู้สึกว่าตำรวจปฏิบัติไม่ดี พูดจาไม่ดี คอยจ้องจับผิดอยู่เสมอ บอกตรงๆว่าชาวบ้านที่นี่ไม่ชอบตำรวจ เห็นตำรวจพยายามเดินหนีไม่อยากเข้าใกล้ ต่อมาเมื่อตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเข้ามาอยู่กับเรา ทำให้เข้าใจกัน รู้สึกว่าเราเชื่อมกับตำรวจผู้รับใช้ชุมชนได้ เราเป็นเหมือนญาติพี่น้องกัน เมื่อเราเชื่อมกันได้แล้ว ก็อยู่ร่วมกันและเดินหน้าไปด้วยกันได้ แนวทางปฏิบัติกับประชาชนนี้ ถ้าส่วนราชการอื่นนำไปปฏิบัติด้วย ก็จะช่วยให้ประชาชนกับภาครัฐมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน และถ้าขยายผลไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะช่วยแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ได้”

เป็น ความเชื่อมั่นของพี่น้องไทยมุสลิมในพื้นที่ชุมชนหัวทาง เกี่ยวกับการดำเนินการของ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” เช่นเดียวกับกลุ่มคนไทยมุสลิมในประเทศมาเลเซีย ที่ได้เห็นความสำเร็จในการรวมคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ในประเทศมาเลเซียจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

คาดหวังอยากได้รับการตอบ สนองจากภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนไทย-มุสลิม ลด “ความหวาดระแวง” ในใจกันให้ได้

จะทำให้เห็นแนวทางดับไฟใต้ของ รัฐบาล 3 ขั้นตอน แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถือเป็นชัยชนะร่วมกันก็อยู่ ไม่ไกลเกินเอื้อม

เช่นเดียวกับคำทิ้งท้ายของอาจารย์การีมที่ย้ำ ชัดเจนว่า “หากพวกเราตั้งใจจะดับไฟใต้ต้องลดความหวาดระแวงต่อกัน สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้ได้ก่อน ความไม่เข้าใจกันก็จะหมดไป ผมเห็นโครงการนี้แล้วดีใจ เราสามารถต่อยอดได้อีกไกล...ทำให้น้ำตาหายไป มีรอยยิ้มเข้ามาแทน โครงการนี้ทำได้... ผมว่าประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้นที่นี่แล้ว”

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการ ตัดสินใจนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเห็นด้วยกับพี่น้องชาวมุสลิมที่อยู่ในประเทศไทย-มาเลเซีย จริงใจแค่ไหนในการแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะ...ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่...ความหวาดระแวงของชุมชน.
ทีมข่าวอาชญากรรม
โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ไม่มีความคิดเห็น: