จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

'คอมมานโด'กองปราบติดเขี้ยวรับอาเซียน




30 กันยายน 2555



'คอมมานโด'กองปราบติดเขี้ยวรับอาเซียน : สัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. โดยไชยฤทธิ์ เสนาะวาที

              เพียงแค่ไม่กี่อึดใจ ก็ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะเปิดประตูประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หลายหน่วยงานมีการเตรียมพร้อมรับมือ มีการคาดการณ์ประเมินผล เช่นเดียวกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม (คอมมานโด) ก็มีการเตรียมการไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องการรับมือการชุมนุม การเจรจาจับกุมคนร้าย รวมถึงหามวลชนช่วยงานตำรวจ พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. จะมาบอกถึงความพร้อมของหน่วยงาน ตอนนี้เต็มร้อยเพียงใด

 -งานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามที่รับผิดชอบมีอะไรบ้าง?

              งานที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปรามรับผิดชอบและดูแลมีอยู่ด้วยกัน 4 อย่าง อันดับแรกคือ งานถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนบุคคลสำคัญต่างๆ งานที่สองทำงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในคดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง อาวุธสงคราม และคดีต่างๆ ที่เกี่ยวกับคดีอาญาทั่วราชอาณาจักร งานที่รับผิดชอบอย่างที่สามคือเรื่องการดูแลความสงบเรียบร้อยให้ประชาชน ส่งกำลังสนับสนุนท้องที่ การใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ การควบคุมฝูงชนให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนข้อสุดท้ายก็ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เช่น นโยบายต่างๆ แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ
 - หน่วยคอมมานโดมีการเตรียมความพร้อมที่จะรับประชาคมอาเซียนอย่างไรบ้าง?

              หากพูดถึงเรื่องการเปิดประตูประเทศสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนในวงการตำรวจ แต่ต้องยอมรับว่าท่านผู้บัญชาการอย่าง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ เป็นตำรวจคนแรกๆ ที่ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่าองค์กรตำรวจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่ จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากจะพูดถึงเรื่องนี้แล้วท่านยังเริ่มดำเนินการหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องการฝึกอบรม เทคนิคการฝึกสืบสวนสอบสวนสมัยใหม่ การฝึกพูดภาษาจีน การสื่อสารการปฏิบัติตนต่อชาวต่างชาติ ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็ชัดเจนมาปีนี้ทางคอมมานโดรับมาหลายเรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วก็หลายเรื่อง กำลังดำเนินการอยู่ก็หลายเรื่อง และที่กำลังจะดำเนินการก็อีกหลายเรื่อง เราทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยกตัวอย่างเช่น วัดไตรมิตรได้ร่วมกับกองบัญชาการสอบสวนกลางได้เปิดฝึกอบรมตำรวจที่สนใจไป เรียนภาษาจีนเพิ่มเติม สัปดาห์ละ 2 วัน ตัวอย่างที่สองได้มีการเซ็นเอ็มโอยู กับมหาวิทยาลัยนิด้า ในเรื่องให้ทุนตำรวจไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก นอกจากนี้ก็ยังมีการเซ็นเอ็มโอยู กับมหาวิทยาลัยอาร์คันซอส์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งตำรวจเราไปเรียนที่นั่น ทั้งนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะรองรับการเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั่นเอง
 - หลังเปิดประตูอาเซียน จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการจับกุมคนร้ายหรือการดูแลการชุมนุมอย่างไร?

              ตรงนี้เรามีการจัดอบรมยุทธวิธีคอนแทคแอนด์คัฟเวอร์ ตรงนี้เราทำมาทั้งปี เป็นเรื่องการเพิ่มพูนพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถในการเรียนรู้ยุทธวิธีการ เข้าตรวจค้นจับกุม และการคัฟเวอร์ตลอดจนเรื่องโปรเทกชั่นต่างๆ เราฝึกฝนตรงนี้ให้กำลังพลเราเพื่ออะไร เนื่องจากผลการวิจัยของต่างประเทศชี้ชัดว่าตำรวจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในขณะเข้าตรวจค้นและจับกุมทั่วโลกต่อปีสูงถึง 60% เนื่องจากไม่มีเทคนิค ไม่ได้ฝึกฝนยุทธวิธี ซึ่งตรงนี้เราก็ได้เชิญวิทยากรมาอบรมให้เรา หลังจากนั้นเราก็ไปถ่ายทอดสิ่งที่เราได้อบรมมาต่อๆ ไปยังหน่วยอื่นๆ ต่อไป และในอนาคตเมื่อเราเปิดประเทศจะมีคนเข้ามาเยอะมีทั้งคนดี คนร้าย เราจะต้องเตรียมพร้อมซึ่งประเด็นนี้เรามีการวิเคราะห์และคิดกันไว้แล้ว ว่ารูปแบบของการชุมนุมก็จะเปลี่ยนไป นอกจากจะเป็นความขัดแย้งของคนไทยด้วยกันเองแล้ว อาจจะมีเหตุการณ์ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็จะใช้หลักยุทธวิธีสากลตามหลักสหประชาชาติอยู่แล้ว
 - ยุทธวิธีการปราบม็อบที่ถูกหลักตามแบบสากลเป็นอย่างไร?
              เรามีกำลังอยู่ 1,200 คน เรามีการอบรมเรื่องการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก ทั้งนี้ทั้งนั้นเราจะไม่ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุมไม่ว่าจะเป็นข้างใดหรือฝ่ายไหน เราจะไม่ใช้คำว่าปราบม็อบแต่เราจะใช้คำว่าเราส่งกำลังไปดูแลความสงบเรียบ ร้อยสถานที่ราชการ พี่น้องประชาชน เพราะประชาชนมีสิทธิ์ที่จะชุมนุมเรียกร้องแต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย เราจะลดการปะทะ ผลักดันแบบลดการบาดเจ็บซึ่งเป็นการอบรมฝึกซ้อมขั้นพื้นฐาน
              นอกจากนี้แล้วยังมีการฝึกควบคุมฝูงชนขั้นสูง จำแนกการฝึกเป็น 2 ประเภท คือ การฝึกเพื่อประจันหน้าม็อบ เพื่อพิทักษ์พื้นที่ และการฝึกเพื่อยึดพื้นที่คืน การเข้าจับกุมแกนนำการนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากพื้นที่ชุมนุม โดยส่วนนี้จะมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วย เช่น รถฉีดน้ำ รถยิงแก๊สน้ำตา รวมถึงเครื่องแอลแรด (LRAD) ซึ่งเป็นการส่งคลื่นเสียงรบกวนกลุ่มผู้ชุมนุม และในปีนี้ สตช.สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์เต็มที่ทั้งชุดเกราะ กระบองยาง โล่ หมวกกันแก๊สรุ่นใหม่ที่นานาชาติเขาใช้ กระสุนยางที่ใช้ในการควบคุมฝูงชน
              หลักการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ว่า ต้องดูจากสถานการณ์ขณะนั้นว่ารุนแรงแค่ไหน ถ้าดูแล้วไม่มีความรุนแรงอะไรก็จะใช้แต่เสื้อเกราะเครื่องป้องกันตัวอย่าง เดียว เอาไหล่ดันกันไม่ให้ม็อบเข้ามาตามแนวที่กำหนดไว้ แต่ถ้าหากมีการใช้ความรุนแรง เริ่มตั้งแต่เอาคันธงมาเป็นอาวุธ ก็จะเอาโล่ เอากระบองมา แต่ยังไม่ได้สั่งตีทันทีทันใด จะมีวิธีตีตามขั้นตอน เมื่อม็อบเข้ามาประชิดตัว และหากรุนแรงขึ้นมากกว่าเดิมก็จะใช้เครื่องแอลแรดส่งเสียงไล่ออกไป เอาน้ำฉีด หากยังเข้ามาอีกก็จะยิงแก๊สน้ำตาและหากรุนแรงจนเอาไม่อยู่ก็จะต้องใช้กระสุน ยางยิงผลักดันออกไป โดยมีระยะหวังผลอยู่ที่ 20 เมตร
      
 - มองว่าภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาชาวบ้านเป็นอย่างไรในตอนนี้?

              บอกได้เลยว่าชาวบ้าน 100 คน หากเราเข้าไปถามว่าเขาชอบเราหรือไม่ เชื่อว่า 99 คนน่าจะบอกว่าไม่ชอบเรา อย่างที่บอกทุกสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี เหรียญก็ยังมี 2 ด้านเสมอ เราตำรวจเองเราก็ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำงานรับใช้ให้เขาเห็นว่าเราทำงานเพื่อเขา ล่าสุดผมก็เชื่อว่ามีประชาชนบางกลุ่มที่เห็นว่าเราจริงใจ ทำงานจริงๆ รักเรา มองภาพลักษณ์เราดีขึ้นอย่างเช่นหลายชุมชนที่เราเอาทฤษฎีใหม่ “ตร.รับใช้ชุมชน” เขาไปใช้ สำหรับทฤษฎีนี้เป็นการทำงานในแบบล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่ความร่วมมือทำกิจกรรม โดยประชาชนเป็นผู้บอกปัญหาและให้ความร่วมมือในการวางแผน ดังนั้นกิจกรรมจึงสนองตอบความต้องการของประชาชน ผลคือสามารถแก้ปัญหาในชุมชนได้ และลดอาชญากรรมได้จริง ซึ่งตำรวจกว่า 90% ทั่วโลก ยอมรับและเปลี่ยนการทำงานจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ มาเป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนานแล้ว   

              สำหรับโมเดลนี้เป็นโมเดลตั้งแต่ปี 2539 ที่ ท่านพล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ซึ่งตำแหน่งขณะนั้นเป็นรอง ผกก.หน.สน.บางขุนนนท์ ได้นำทฤษฎีตำรวจแนวใหม่นี้ไปทดลองใช้ที่ชุมชนหลังวัดบางขุนนนท์ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ หลังจากนั้นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนก็ได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และเกิดเป็นโครงการทดลองขึ้นอีกหลายแห่ง หลักการคือมีตำรวจชั้นประทวน 2 คนเข้ามาอบรมและถูกส่งเข้าไปอยู่ในชุมชนเพื่อลดความหวาดระแวงระหว่างประชาชน กับชาวบ้าน แสวงหาความร่วมมือ พอได้ 2 ข้อนี้แล้วก็เข้าไปร่วมกันแก้ปัญหาให้ชุมชนนั้นๆ พอปี 2553 กองปราบปราบได้ถูกถ่ายทอดให้นำทฤษฎีนี้มาใช้ และต่อมา ปี 2554 สมัย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ได้บรรจุทฤษฎีใหม่ 'ตร.รับใช้ชุมชน' เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นงานที่ตำรวจทั้งประเทศจะต้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งแผนนี้มีระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2564 ซึ่งเปิดดำเนินการไปแล้ว 40 ชุมชน และหากครบ 10 ปี เชื่อว่าเราจะทำได้ครบทั้งหมดทุกชุมชนทั่วประเทศ ต่อไปเราก็จะเห็นประโยคที่ว่าตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจเป็นจริงขึ้นมา

 พอได้ฟังทำให้มั่นใจได้ว่า ตำรวจกองปราบฯ ของไทย เริ่มติดเขี้ยวเล็บ เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว!!

................
(หมายเหตุ : 'คอมมานโด'กองปราบติดเขี้ยวรับอาเซียน : สัมภาษณ์พิเศษ  พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. โดยไชยฤทธิ์ เสนาะวาที)
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20120930/141135/%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99.html#.UGf5Qa4sHNU

ไม่มีความคิดเห็น: