จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ทำไมถึงเริ่มที่ “กองปราบ” ตามดู “สตูลโมเดล” ความมุ่งหวังเพื่อดับไฟใต้


 

ตามดู “สตูลโมเดล” ความมุ่งหวังเพื่อดับไฟใต้

วันพุธ ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555, 02.00 น.
หากใครที่ผ่านไปผ่านมาตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าหลายๆ พื้นที่ จะมีป้ายโฆษณาแปลกๆ ทำนองว่า “เดินหน้า อย่าถอยหลัง” พร้อมๆ กับรูปภาพวิวัฒนาการของมนุษย์ คงจะรู้สึกสงสัยว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว คำขวัญและการโฆษณาดังกล่าวเป็นการเตือนให้ข้าราชการตำรวจทุกนายทราบและตื่น ตัวว่าตำรวจยุคใหม่จะต้องเปลี่ยนแปลง จากที่มุ่งเน้นแต่การบังคับใช้กฏหมาย (Law Enforcement) แต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องประชาชนมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” อันเป็นแนวคิดใหม่ที่ใช้ได้ผลมาแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยหลังจากที่มีนโยบายดังกล่าวในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าหลายพื้นที่เริ่มนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติกันบ้างแล้ว วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปเรียนรู้ “สตูลโมเดล” หรือการนำแนวคิดตำรวจผู้รับใช้ชุมชนไปใช้ในพื้นที่ จ.สตูลอย่างได้ผลว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และได้ผลอย่างไรบ้าง
เปิดตัว “สตูลโมเดล”
“ที่ผ่านมา ผบก.ป.ได้ส่งเสริมให้กองกำกับการ (กก.) 1-6 และ กก.ปพ.บก.ป.ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร ให้จัดทำโครงการ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” หรือนโยบาย “Community Policing” ตามที่ ผบช.ก.ได้ให้แนวทางไว้ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและได้รับการตอบ รับจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี” เป็นเสียงจาก พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่นั้นจะรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ซึ่งโดยภาพรวมในพื้นที่แล้วมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ความเป็นมาของความสำเร็จที่เกิดขึ้นครั้งนี้ พ.ต.อ.ทินกร เปิดเผยว่า ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของ กก.6 บก.ป.คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อ เนื่อง ซึ่งทาง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ ผบช.ก. เล็งเห็นถึงปัจจัยพื้นฐานของปัญหา และแนวทางการแก้ไขตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เราจึงเริ่มเข้าไปในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทาง จ.สตูล เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2555 รวมระยะเวลา 18 เดือน
“ส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่ดังกล่าวเนื่องจากเป็นชุมชนเข้มแข็งมี รากฐานความสามัคคีอยู่ภายในชุมชน เป็นตัวอย่างการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านซึ่งทั้งหมดเป็นชาวมุสลิม และเป็นพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ถูกคุกคามจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเช่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบมหาย ด.ต.สุทธินันท์ อนันราฐาน และ ด.ต.อัต จีเบญจะ ผบ.หมู่ กก.6 บก.ป.ที่มีพื้นเพอยู่ในพื้นที่ เข้าไปพบ นายวัชรินทร์ อบทอง โต๊ะอีหม่ามมัสยิดเราดอตุ้ลญันนะห์ (หัวทาง) นายเจษฎา เส็นหละ ผู้นำชุมชนดังกล่าว และนายสามัญ ช่างนุ้ย แกนนำชาวบ้าน” ผกก.6 บก.ป.กล่าว
ใส่ใจแม้เป็นเพียง “เรื่องเล็กๆ น้อยๆ”
เมื่อพูดถึงคดีอาชญากรรมกับตำรวจ ปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยไว้วางใจหรือเชื่อมั่นในตำรวจมากนัก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมักมุ่งทำคดีใหญ่ๆ ที่ให้ผลงานได้มากและเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน แต่คดีย่อยๆ เช่นอุบัติเหตุ ลักเล็กขโมยน้อยหรือวัยรุ่นเสพยาเสพติดที่เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าไม่ค่อยได้รับ ความสนใจมากนัก แต่แนวคิดตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนี้จะคิดกลับกัน คือแม้เป็นคดีเล็กๆ ไม่น่าสนใจ ก็ต้องให้ความสำคัญ เพราะถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนในท้องที่มากที่สุด
“หลังจากนั้น เราก็เริ่มต้นชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ที่เข้ามาทำโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ก่อนจะส่งตำรวจเข้ามาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเหมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน คอยให้ความรู้ การปรับสภาพชุมชนไม่ให้เอื้อต่อการก่ออาชญากรรม ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่คดีลักเล็กขโมยน้อย การลักลอบค้าและเสพยาเสพติด ตลอดจนช่วยงานถางหญ้าในกุโบร์ ทำความสะอาด ประสานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ซึ่งเราไม่คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ เพราะนั่นคือสิ่งที่ชาวบ้านเขาต้องการความช่วยเหลือ เป็นสิ่งที่เขาขาดและเราสามารถทำได้”  พ.ต.อ.ทินกร กล่าว
นอกจากนี้แล้ว ยังมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐ ปะลิส ประเทศมาเลเซียอีกด้วย โดย ผกก.6 บก.ป.กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากมาเลเซียมาเยี่ยมชมโครงการ และเราได้สรุปผลการเยี่ยมชมไว้ 8 ข้อ เตรียมไว้ปรับใช้กับชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป สำหรับโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนี้ เมื่อนำมาปฏิบัติกับชุมชนบ้านหัวทางจนเกิดผลสำเร็จ ได้รับการพิจารณาว่าเป็นต้นแบบ หรือ “สตูลโมเดล” ของโครงการนี้ ตนต้องขอยกเครดิตต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนาย และคนในชุมชนดังกล่าวที่ร่วมมือร่วมใจกันและคิดว่าเรื่องนี้ถือเป็นการทำ ความดีเพื่อสังคมร่วมกัน
ทำไมถึงเริ่มที่ “กองปราบ”
มีข้อสงสัยกันว่าเหตุใดโครงการนี้จึงเริ่มต้น และประสบความสำเร็จเป็นโครงการนำร่องที่กองปราบปราม ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ โดย พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. เปิดเผยว่า ในส่วนของชุมชนบ้านหัวทาง จ.สตูล ที่ตนได้ร่วมลงพื้นที่ไปด้วยพบว่า กว่าตำรวจที่ถูกส่งไปอยู่ร่วมกับชาวชุมชนจะได้รับการยอมรับและพูดคุยด้วย อย่างเป็นมิตรนั้นต้องใช้เวลาแรมปีทีเดียว เนื่องจากอิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำชุมชนด้วยนั้นยังไม่ไว้วางใจเรา และยังคงมีทัศนคติที่ไม่ดีกับตำรวจ เพราะภาพลบในความคิดของชาวมุสลิม คือภาพเจ้าหน้าที่รัฐที่มักจะปฏิบัติกับชาวมุสลิม อย่างพลเมืองชั้น 2 และตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ว่าจากหน่วย งานไหน เข้ามาในชุมชนอย่างจริงใจ จะมีก็เพียงแต่เจ้าหน้าที่บางรายที่เข้ามาสำรวจข้อมูล หรือทำงานวิจัยแล้วก็หายไป
“แต่หลังจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ผบช.ก.เข้าไปหาชาวชุมชนด้วยตนเอง ทำให้ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน รู้สึกว่าได้รับความจริงใจ และเปิดปากบอกกล่าวถึงสิ่งที่สะท้อนสภาพปัญหาระหว่างชาวมุสลิมกับเจ้า หน้าที่รัฐ โดยเฉพาะ ทหารและตำรวจ ที่ถูกเกลียดชังจากชาวบ้าน เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะถูกจับผิด ถูกมองในภาพที่ไม่ดี บางคนก็ไม่รู้ขบมธรรมเนียม วิถีปฏิบัติของชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านสวมหมวกกะปิเยาะห์ ขับจักรยานยนต์ออกจากบ้านพักก็ถูกจับในข้อหาไม่สวมหมวกกันน็อก เหล่านี้เป็นต้น” พ.ต.อ.อธิป กล่าว
ขณะที่ทางฝั่งประชาชน นายสามัญ ช่างนุ้ย แกนนำชาวชุมชนบ้านหัวทาง กล่าวขอบคุณ ผบช.ก. ที่ส่งตำรวจเข้ามาปฏิบัติงานในชุมชน ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตำรวจ ตรงข้ามกับเมื่อก่อนที่เห็นตำรวจแล้วไม่อยากเข้าใกล้ หรือบางคนก็เกลียดตำรวจ แต่ทุกวันนี้ชาวชุมชนถือว่าตำรวจเป็นเพื่อน เหมือนเป็นพี่น้อง มีอะไรก็บอกกัน ช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้ปัญหายาเสพติด เหตุลักทรัพย์ที่เคยมีในอดีตก็ไม่เกิดขึ้นในชุมชนอีกเลย
“ตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเป็นโครงการที่ดีมากเราอยากให้โครงการนี้อยู่ กับชุมชนบ้านหัวทางตลอดไป และถ้าเป็นไปได้ อยากให้นำไปใช้กับที่อื่นทั่วประเทศ” นายสามัญ กล่าวทิ้งท้าย
“โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” เป็นนโยบายที่ริเริ่มโดยสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางที่มี พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธ์ เป็นหัวเรือใหญ่ มีสาระสำคัญคือ 5 ทฤษฎี และ 1 หลักการ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานของตำรวจสมัยใหม่ ให้ถูกนำมาใช้กับตำรวจในสังกัด บช.ก.ทุกนาย เริ่มที่การปรับพฤติกรรมของตัวเอง ใครที่เคยประพฤตินอกลู่นอกทางก็ให้กลับหลังหัน เริ่มต้นที่ตนเอง ก่อนจะเริ่มทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน หรือเป็นการ “คืนคนดีสู่สังคม” ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นต้นแบบให้กับตำรวจทุกหน่วยงานทั่วประเทศ
สำหรับ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่เปรียบเสมือนเคี้ยวเล็บของ บช.ก.ซึ่ง ผบช.ก.ทุกยุคสมัย ต่างให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานดั่งคำขวัญที่ว่า “ที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” โดยภายใต้การนำของ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) ได้เล็งเห็นความสำคัญและพร้อมสนองนโยบายของ ผบช.ก. โดยเริ่มที่ชุมชนคุณหญิงส้มจีน จ.ปทุมธานี เป็นที่แรก และได้เดินหน้าโครงการไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และทุก บก.ก็เดินหน้าในส่วนความผิดชอบตามหน้างานของตน มีการจัดทำกลุ่ม “ตำรวจ ผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)” ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ค คอยนำเสนอข้อมูลและผลการดำเนินโครงการดังกล่าวซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่าง ดี ถึงกระนั้น โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ซึ่งหากจะวัดผลในภาพรวมสำเร็จหรือไม่ ก็ยังต้องรอต่อไป
โดยเฉพาะความมุ่งหวังสูงสุด คือพื้นที่ชายแดนภาคใต้...จะกลับมาสงบสุขดังเดิม

ขอบคุณข้อมุลจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 http://www.naewna.com/scoop/22772

ไม่มีความคิดเห็น: