จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

5 กุมภาพันธ์ 2555

“ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โครงการ“พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์”

Pic_235897 ผบ.ตร.เฉียบ-หนุนนโยบาย

เป็นอีกช่วงที่ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับความสับสนอลหม่านจาก “คนนอก” ร่วมกันเขย่าความเชื่อมั่นองค์กรตำรวจ

ทั้ง การออกมาปล่อยข้อมูลบ่อนการพนัน-สถานบริการและคลื่นใต้น้ำผสมโรงบั่นทอน ความเชื่อมั่นของตำรวจเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ได้มองผลงานของ ตำรวจ

ทั้งที่สมัย พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. ปิดคดีอาชญากรรมร้ายแรงนับไม่ถ้วน และผลงานปราบปรามยาเสพติดจำนวนมหาศาลของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ซึ่งเป็นมหันตภัยยิ่งใหญ่ของสังคมไทย

ตำรวจ ไม่มีทางเลือก ต้องก้มหน้าทำงาน เป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดี แม้ตำรวจทำงานหนัก แต่ยังไม่สามารถเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจประชาชนได้ ภาพพจน์ตำรวจไม่ดี เป็นข้าราชการที่มีต้นทุนสังคมต่ำ เป็นปัญหาใหญ่ของผู้นำตำรวจพยายามแก้ไขทุกยุคทุกสมัย จนเป็นที่มาของ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน”

ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. นายตำรวจที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์สืบสวนสอบสวน มีประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยงานสำคัญในต่างประเทศ ได้เสนอปรับยุทธศาสตร์ โดยเน้นการทำงานด้านการป้องกันมากกว่าปราบปราม และเปลี่ยนเทคนิค วิธีการทำงานให้ก้าวทันยุคทันสมัย

จากแนวคิดทฤษฎีตำรวจในต่างประเทศเพื่อ “ผ่าทางตัน” ให้วงการตำรวจ


ลบภาพเก่าๆ ตำรวจมือปราบ ตำรวจนักประชาสัมพันธ์ ตำรวจที่ทำตัวเป็นเจ้าขุน มูลนาย

มาเป็นตำรวจที่ทำงานกับประชาชน มุ่งลดความหวาดระแวง ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน เน้นการป้องกันและการบริการ

เป็น การนำตำรวจเข้าไปฝังตัวในชุมชน เพื่อรับใช้ ให้บริการประชาชน จนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมองตำรวจเป็นเพื่อนบ้านคนหนึ่ง

ตำรวจคือมิตร ไม่ใช่ยักษ์ที่คอยจับผิดประชาชน.........

ประชาชนจะไม่หวาดระแวงตำรวจเหมือนยุคก่อน แจ้งข้อมูลให้ตำรวจทราบ จากนั้นตำรวจรับฟังปัญหาของประชาชนในชุมชนและร่วมมือกันแก้ปัญหา ตามหลักการสากลที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว เมื่อปัญหาของชุมชนถูกแก้ไขหมดไป ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจะดีขึ้น ความปลอดภัยจะมากขึ้น อาชญากรรมจะค่อยๆลดลง

เป็นชุมชนที่น่าอยู่และปลอดภัยขึ้น... เป็นการคืนชุมชนสีขาวให้กับสังคม


การแก้ปัญหาต้องสอดคล้องความต้อง การชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยสั่งการจากส่วนกลาง

วิธีการนี้ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในหลายประเทศเกือบทั่วโลกว่าสามารถลดอาชญากรรม แก้ปัญหายาเสพติดและปัญหาความไม่สงบในสังคมได้

จน กลายมาเป็นการพัฒนาองค์กรตำรวจในยุค พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. นำเอา “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.54 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ.2555 จนถึง พ.ศ.2564 เป็นเวลา 10 ปี

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในต่างประเทศเขาใช้กันมานานแล้ว แต่เป็นการทำตามทฤษฎีที่ถูกต้อง

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เจ้าของโครงการ  เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอาชญากรรม” ว่า

“การ บริหารงานตำรวจยุคใหม่ แตกต่างจากการบริหารงานยุคเก่าโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาจะใช้การบริหารงานแบบบนลงล่าง จะสั่งการให้ทำ กำหนดวิธีการให้ปฏิบัติ จะใช้วิธีการจับผิด และลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม”

“แต่ การบริหารงานยุคใหม่ ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ชักจูงให้ตำรวจร่วมกันทำงาน โดยไม่ใช้การบังคับ ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์จริงๆ จึงเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเป็นผู้นำหน่วยได้ เพราะจะต้องให้ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ รู้เทคนิควิธีการทำงาน ตลอดจนใช้หลักจิตวิทยา เพื่อชักจูงใจให้ตำรวจร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช้การบังคับ เพราะความเป็นจริงเราไม่สามารถบังคับตำรวจให้ทำงานได้ ถ้าถูกบังคับ เขาก็ทำเฉพาะต่อหน้าเท่านั้น ผู้บริหารยุคใหม่ต้องยอมรับในเรื่องนี้ การทำงานโดยไม่รู้ ไม่ได้ศึกษา จึงใช้วิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องทำงานหนักกว่าตำรวจเมืองนอก ในขณะที่ผลงานกลับด้อยกว่า เพราะอาชญากรรมไม่ลดลง ประชาชนไม่ชอบตำรวจ เนื่องจากตำรวจไทย เข้าใจว่าการทำงานตำรวจมีเรื่องเดียว คือการจับกุมคนร้าย หรือทฤษฎีบังคับใช้กฎหมาย”


“ตำรวจ ชุมชนสัมพันธ์เป็นทฤษฎีตรงข้ามกับ “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โดยตำรวจชุมชนสัมพันธ์ เป็นการดำเนินงานในลักษณะบนลงล่าง ตำรวจเป็นฝ่ายกำหนดกิจกรรมเองทั้งหมด ประชาชนเป็นฝ่ายให้ความร่วมมือในกิจกรรมของตำรวจ โดยไม่ได้นำเอาข้อมูลฝ่ายประชาชนมากำหนดกิจกรรมที่จะทำ สิ่งที่ตำรวจทำอาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการก็ได้ สุดท้ายตำรวจชุมชนสัมพันธ์ใช้ไม่ได้ผล ไม่สามารถลดอาชญากรรมได้ ประชาชนยังคงไม่ชอบตำรวจ ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่ในโลกเลิกใช้ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ไปแล้ว”

“สำหรับ ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นการดำเนินงานในแบบล่างขึ้นบน เริ่มต้นจากความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่ความร่วมมือทำกิจกรรม ประชาชนเป็นผู้บอกปัญหาและให้ความร่วมมือในการวางแผนดำเนินกิจกรรม จึงสนองตอบความต้องการของประชาชน ผลลัพธ์ที่ได้จึงสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ และสามารถลดอาชญากรรมได้จริง ซึ่งตำรวจกว่า 90% ทั่วโลกยอมรับและเปลี่ยนจากตำรวจชุมชนสัมพันธ์ มาเป็นตำรวจผู้รับใช้ชุมชนกันมานานแล้ว”

“งานตำรวจไม่ใช่มีเพียงจับ กุม ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องทำแต่ยังไม่เคยทำ แม้ว่าตำรวจมุ่งจับกุมจนมีสถิติตัวเลขมากเพียงใดถือว่าทำงานในหน้าที่ตำรวจ เพียงเสี้ยวเดียว งานส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำ อาชญากรรมจึงไม่ลด ปัญหาสังคมจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนมองตำรวจในภาพลักษณ์ไม่ดี ทุกวันนี้ตำรวจทำงานด้านจับกุมเพียงอย่างเดียว พอจับกุมไม่ได้ ถูกคนอื่นโจมตีเรื่องการจับกุม เราไม่สามารถชี้แจงอะไรได้ เพราะเราไม่ได้ทำงานด้านอื่นด้วย เช่น ถ้ามีคนแฉเรื่องแหล่งอบายมุข ตำรวจตกใจกันหมด ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งในสังคม ทุกสังคมมีผู้กระทำผิดกฎหมายอยู่เสมอ แหล่งอบายมุขเป็นเพียงอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมีขึ้นในสังคม ขอให้ตำรวจไม่ต้องเสียขวัญ ไม่ต้องเสียกำลังใจ ขอให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด”

เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ย้ำยืนยันว่า เป็นแนวคิดที่ดีของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ที่ทำในเรื่อง “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” โดยจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปอยู่ในชุมชน ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน รับฟังปัญหาความเดือดร้อน เพื่อถ่ายทอดให้ผู้ที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยเหลือในทุกเรื่อง แต่ไม่ได้มีหน้าที่จับกุม แต่เป็นผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการ และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาในชุมชนที่มีความหลากหลาย ซึ่งถือเป็นการริเริ่มเดินเข้าหาประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีกับประชาชน และสนองความ ต้องการของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

หากแนวทางนี้ ประสบความสำเร็จ ย่อมส่งผลดีต่อชาวบ้านสุจริตชนและชุมชนอย่างยั่งยืน และถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกเหนือจากงานปราบปรามยาเสพติด

เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ จะได้รับการจารึกว่า เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการตำรวจไทย

ด้วยการคืนชุมชนสีขาวให้กับสังคม.
ทีมข่าวอาชญากรรม

 ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก ทีมข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: