จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing)



http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/a/a5/WorldToday_Logo.png/180px-WorldToday_Logo.png
รายงาน(วันสุข) จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 7 ฉบับที่ 347 ประจำวัน จันทร์ ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2012
คอลัมน์/บทความ -
เรื่อง ตำรวจรับใช้ชุมชน
โดย หนวดสีเหล็ก


กองบัญชาการตำรวจ สอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ได้นำเสนอโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing) ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยโครงการที่ว่านี้สามารถช่วยลดปัญหาอาชญากรรมได้จนมีการสรุปเป็นทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” ถูกนำมาใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติงานเพื่อลดปัญหาอาชญากรรม โดยประเทศไทยเริ่มนำทฤษฎีนี้มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2539 ที่ชุมชนหลังวัดบางขุนนนท์ ซึ่ง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีในขณะนั้น นำโครงการดังกล่าวมาทดลองใช้ สิ่งสำคัญคือได้รับคำแนะนำจากตำรวจผู้มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ คัดเลือกตำรวจ 2 นายลงไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เรียนรู้หลักการจดบันทึกข้อมูลอาชญากรรม รวบรวมรายละเอียดสภาพแวดล้อมความเป็นมาของชุมชน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เน้นการทำงานแบบเข้าถึง ไม่ใช่จับปราบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ตำรวจที่ทดลองเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านจะทำงานทั้งด้านการรักษา กฎหมายและเป็นที่ปรึกษาให้กับชาวบ้านไปพร้อมๆกัน เพื่อทำลายกำแพงกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่มักเป็นไม้เบื่อไม้ เมากัน”
ดังนั้น เพื่อให้มีการนำโครงการดังกล่าวไปใช้อย่างจริงจัง วันที่ 27 มกราคม 2555 พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. จึงเปิดสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งนำโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาเป็นธงนำในการทำงาน
การสัมมนาครั้งนี้มี ศ.ดร.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ในฐานะที่ปรึกษา บช.ก. และ พล.ต.ต.เชิด ชูเวช รอง ผบช.ก. เป็นผู้บรรยาย มี ดร.อิสระพัฒน์ ธีรพัฒน์สิริ ตัวแทนผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานตรวจการแผ่นดิน และแขกผู้มีเกียรติอีกหลายท่านร่วมรับฟัง ที่ห้องประชุม บช.ก.
ศ.ดร.สุธรรมแสดงความเห็นว่า “งานของตำรวจชุมชนสัมพันธ์และตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเป็นงานที่ต้องเข้าถึงชาว บ้าน หากนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้จะเป็นการสร้างชุมชนที่มีความคุ้นเคยกัน ระหว่างตำรวจกับประชาชน โดยตำรวจต้องเป็นฝ่ายเข้าหาชาวบ้านให้บริการด้านชุมชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด”
สรุปได้ว่า “ผลลัพธ์ที่ออกมาจะทำให้คดีต่างๆเกิดขึ้นน้อยลง จะไม่มีการปล่อยให้ตำรวจแก้ไขปัญหาแต่เพียงฝ่ายเดียวด้วยการสั่งงาน แต่ต้องมาจากความรู้สึกที่อยากทำ อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จนกระทั่งไม่จำเป็นที่เราต้องจับผู้กระทำผิดทุกครั้งไป เพื่อหาวิธีอื่นที่เหมาะสม กรณีไม่รุนแรงในการแก้ไขปัญหาหรือเป็นวิธีการนอกกรอบ และที่สำคัญจะเป็นการลดช่องว่างระหว่างตำรวจกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี”
ด้าน พล.ต.ต.เชิด ชูเวช รอง ผบช.ก. กล่าวว่า “ทฤษฎีดังกล่าวคงต้องใช้เวลาในการปฏิบัติพอสมควร เป็นวิธีการหนึ่งในปฏิบัติการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม เพื่อช่วยกันแก้ไข ปัญหาตามบทบาทและหน้าที่ของตำรวจ หลังจาก พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ได้ทดลองทำมาแล้วผลปรากฏว่าสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ที่อยู่ร่วมกันในชุมชน สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมได้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
ความหวังส่วนหนึ่งของโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนคือ การสร้างจิตสำนึกให้ตำรวจเพื่อทำความเข้าใจประชาชน และเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาอาชญากรรม ไม่ใช่จ้องแต่จะจับกุม ตั้งข้อหาชาวบ้านเพียงอย่างเดียว
ดร.อิสระพัฒน์ระบุว่า “เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ตำรวจได้ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญตำรวจต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชนในฐานะผู้รักษากฎหมาย ผมเห็นด้วยกับโครงการสกรีนตำรวจปลอดยาเสพติด มีการสุ่มตรวจสารเสพติดในตัวข้าราชการตำรวจ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่ามีตำรวจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่
แต่ตำรวจต้องเคลียร์ตัวเองและพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่มาเป็นต้นตอของปัญหาเสียเอง เราเข้ามาสนับสนุนตรงนี้เพื่อพยายามหาทางส่งเสริมมาตรฐานจริยธรรม ตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชนจึงหนีไม้พ้นข้อครหา ดังนั้น คนเป็นตำรวจจึงต้องทำอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา”
อย่างไรก็ตาม โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนจะสัมฤทธิผลประการใดก็ขึ้นอยู่กับว่าตำรวจและ ประชาชนเข้าใจกันแค่ไหน ตำรวจจะเข้าถึงประชาชนหรือไม่ หรือประชาชนจะเข้าใจตำรวจมากน้อยเพียงใด

ขอขอบคุณที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 347 วันที่ 18 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 หน้า 21 คอลัมน์ รอบรั้วปทุมวัน โดย หนวดสีเหล็ก

ไม่มีความคิดเห็น: