จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ชูสตูลโมเดลช่วยดับไฟใต้ 5รัฐมาเลย์ชื่นชมโครงการ‘ผบช.ก.’ตร.ผู้รับใช้ชุมชน

http://www.lopburi1.go.th/school/thairath1/logo.jpg
จันทร์ 27 สิงหาคม 2555 























http://www.thairath.co.th/content/newspaper/286499
ชูสตูลโมเดลช่วยดับไฟใต้ 5รัฐมาเลย์ชื่นชมโครงการ‘ผบช.ก.’ตร.ผู้รับใช้ชุมชน กลุ่มทุนมูลนิธิ 5 รัฐมาเลย์ หนุนโครงการ “ตร.ผู้รับใช้ชุมชน” ของนายพลเจ้าทฤษฎี “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์” ผบช.ก. ยก “ชุมชนบ้านหัวทาง” อ.เมืองสตูล ที่กองปราบปรามลงไปกรุยทางเป็น “สตูลโมเดล” เชื่อเอามาใช้แก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ด้านตำรวจมาเลย์เผยทำมาก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2006 ลดความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ โดยเฉพาะความหวาดระแวง ต้นตอปัญหาเหตุรุนแรงในภาคใต้ได้สำเร็จ ขณะที่ ผกก.6 บก.ป.บอกดับไฟใต้ต้องร่วมใจกันทุกฝ่าย กลุ่มทุน 5 รัฐมาเลย์ เชื่อโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เป็นแนวทางดับไฟใต้ได้ โดยเมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 26 ส.ค. ที่มัสยิดปะดังเบซาร์ สะลาตัน รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป. พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบนายริชวาน บิน มูฮัมหมัด อิสสะ หัวหน้าด่านศุลกากร รัฐปะลิส พ.ต.อัสมี บิน ฮาเม็ด หน.ตำรวจประชาชนสัมพันธ์ รัฐปะลิส และหัวหน้าชุดตำรวจผู้รับใช้ชุมชนประเทศมาเลเซีย และดะโต๊ะ ซอรี มูฮำมัด ฮัดซี บิน ตัน สือรี เชค อะหมัด ส.ว.รัฐปะลิส ตัวแทนกลุ่มมูลนิธิ 5 รัฐของประเทศมาเลเซีย ที่รวมกลุ่มกันบริจาคทุนช่วยเหลือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย เพื่อพูดคุย และร่วมกันผลักดันโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ที่กองปราบปรามนำมาใช้ในพื้นที่ชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมืองสตูล จนประสบความสำเร็จ ไปใช้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นายริชวาน บิน มูฮัมหมัด อิสสะ หัวหน้าด่านศุลกากร รัฐปะลิส กล่าวว่า การทำงานของตำรวจผู้รับใช้ชุมชนนั้นเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะเคยมาศึกษาวิจัยที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า มีแนวทางใดบ้างที่จะช่วยเหลือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสงบสุขกลับคืนมา ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาที่สำคัญคือ การหวาดระแวง ไม่ไว้ใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน ตรงนี้ได้พยายามที่จะให้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาดูตัวอย่างที่ จ.สตูล จะได้เห็นถึงความเป็นเอกภาพในการทำงานต่างๆของรัฐ และประชาชนสามารถเป็นต้นแบบที่จะนำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะเป็นการทำงานที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สำหรับปัญหาอีกอย่างคือ คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนไทยมุสลิม บอกว่า เป็นคนมลายู ที่เป็นอิสลาม ผิดจากที่ จ.สตูล ทุกคนบอกว่าเป็นคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม จะทำอย่างไรที่จะพังกำแพงความคิดนี้ให้สลายไป เวลานี้ประเทศมาเลเซียเอง ถ้ามองปัญหาแล้วมีมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ เพราะมีหลายเชื้อชาติ หลายภาษา ต่างวัฒนธรรม รัฐบาลมาเลเซียเลยออกนโยบายซาตู– มาเลเซีย หรือมาเลเซียเป็นหนึ่งเดียว หลอมรวมคนในประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ทำสำเร็จมาแล้ว อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทยนำไปทำบ้าง ทำให้คนในชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน คงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ด้าน พ.ต.อัสมี บิน ฮาเม็ด หน.ตำรวจประชาสัมพันธ์ รัฐปะลิส กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติด้วยโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ของประเทศมาเลเซีย ดำเนินการมา 6 ปี โดยประยุกต์มาจากประเทศออสเตรเลีย นำมาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ โดยช่วง 6 เดือนแรกที่ริเริ่มโครงการ จำนวนคดีอาชญากรรมของชุมชนลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยอาศัยความจริงใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานอื่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตั้งใจในการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในชุมชน จนทำให้เกิดการรวมตัวของชุมชน เข้ามาช่วยงานทุกด้านเพื่อให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ประชาชนและตำรวจร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรในการลดคดีอาชญากรรม เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ขอชื่นชมตำรวจกองปราบปรามที่ได้นำโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ในพื้นที่ชุมชนหัวทาง อ.เมือง สตูล จนทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว ลดความหวาดระแวงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคิดว่าจะต้องประสานความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ทางการไทยให้ความสำคัญกับโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับมูลนิธิ 5 รัฐของประเทศมาเลเซีย ประกอบด้วยรัฐปะลิส เคดาห์ เประ กลันตัน และปีนัง เป็นการรวมกลุ่มของแหล่งทุนที่บริจาคร่วมกันใน 5 รัฐของประเทศมาเลเซีย ที่ติดชายแดนไทย เพื่อช่วยเหลือ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล ในเรื่องศาสนา โดยมีลูกชายของสุลต่านรัฐกลันตัน ร่วมอยู่ในมูลนิธิด้วย อีกทั้งเคยเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนชุมชน บ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมืองสตูล ได้ยอมรับการทำงานของตำรวจกองปราบปรามที่ทำเรื่องตำรวจผู้รับใช้ชุมชน จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยเข้าชมโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนของประเทศมาเลเซีย ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2006 เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล และเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีในระดับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ขณะที่ พ.ต.อ.ทินกร รังมาตย์ ผกก.6 บก.ป.กล่าวว่า การเข้าพื้นที่ชุมชนหัวทาง อ.เมือง จ.สตูล ตามนโยบายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. เพื่อทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการลดปัญหาในพื้นที่ชุมชน ครั้งแรกประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจตำรวจ แต่หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ระยะหนึ่ง ประชาชนมีความไว้วางใจ ไม่หวาดระแวง รักตำรวจ เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างตำรวจกับประชาชน โดยประชาชนได้พูดถึงความประทับใจที่มีต่อตำรวจผู้รับใช้ชุมชนในกลุ่มชาวไทยมุสลิม จนกลุ่มมูลนิธิ 5 รัฐ ของประเทศมาเลเซียเข้ามาเยี่ยมชมโครงการ และยอมรับว่า ทำให้ลดความหวาดระแวงระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐได้จริง และสนับสนุนให้มีการนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนมาใช้ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการทำงานที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ประสานรัฐและชาวบ้านเป็นเนื้อเดียวกัน ลดความหวาดระแวงชุมชนกับรัฐ ผกก.6 บก.ป.กล่าวต่อว่า จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคณะมูลนิธิ 5 รัฐของประเทศมาเลเซีย ที่ได้ดำเนินการโครงการนี้มาตั้งแต่ปี2006 มีการปลูกฝัง สร้างความรัก ความเข้าใจ และความไว้ใจระหว่างตำรวจและประชาชนตั้งแต่เด็ก และเยาวชน โดยจะต้องทำให้รู้สึกว่าตำรวจใกล้ชิดกับเขา มีความจริงใจ สม่ำเสมอ สัมผัสได้ สร้างแนวร่วมเครือข่ายเพื่อนตำรวจ อาสาสมัคร เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารในการระวังป้องกันภัยทั้งตนเอง และชุมชน มีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นแนวทางเดียวกับนโยบายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ กำชับให้ตำรวจใกล้ชิดชุมชนและประชาชน น่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากทุกฝ่าย ไม่ใช้ตำรวจเพียงหน่วยเดียวเท่านั้น

ขอบคุณภาพและเนื้อหาข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐครับ

ไม่มีความคิดเห็น: